TNN online โครงการ HERA เตรียมพร้อมมนุษย์สู่การเดินทางในอวกาศ

TNN ONLINE

Tech

โครงการ HERA เตรียมพร้อมมนุษย์สู่การเดินทางในอวกาศ

โครงการ HERA เตรียมพร้อมมนุษย์สู่การเดินทางในอวกาศ

โครงการจำลองสภาพแวดล้อมในอวกาศและบนดาวเคราะห์ดวงอื่น เพื่อศึกษาและเตรียมมนุษย์ให้พร้อมสำหรับการเดินทางระยะยาวในอวกาศ

โครงการเฮลา (HERA, Human Exploration Research Analog) คือโครงการที่วิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ของนาซา (NASA) ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อรวบรวมข้อมูลในการสร้างแบบจำลองสภาพแวดล้อมของสถานที่ต่าง ๆ ในอวกาศ เช่น ดาวอังคาร ดวงจันทร์ และอื่น ๆ เพื่อศึกษาผลกระทบของสภาพแวดล้อมต่อร่างกายมนุษย์ โดยให้นักบินอวกาศทดลองเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในโดมจำลองสภาพแวดล้อมดังกล่าว ไม่เพียงเท่านั้นยังทดลองกับยานพาหนะ หุ่นยนต์ และอื่น ๆ เพื่อหาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมของสถานที่ที่มันจะถูกส่งไปและทำการแก้ไขก่อนส่งไปปฏิบัติหน้าที่ภาคสนามจริง ๆ 


โครงการ HERA เตรียมพร้อมมนุษย์สู่การเดินทางในอวกาศ โดมจำลองสภาพแวดล้อม - www.nasa.gov

สภาพแบบสุดโต่งหมายถึงสภาพแวดล้อมที่ยากต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต อาจมีปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งมากหรือน้อยเกินไป หรืออาจมีหลายปัจจัยร่วมกัน โดยแบบจำลองของโครงการเฮลาจัดกลุ่มอันตรายในอวกาศออกเป็น 5 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่


1. รังสีในอวกาศ สนามแม่เหล็กและบรรยากาศของโลกปกป้องเราจากรังสีคอสมิกที่รุนแรง แต่หากไม่มีการป้องกันนั้น ย่อมมีโอกาสได้รับรังสีอันตรายมากกว่า การได้รับรังสีมากเกินไปมักเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง สามารถทำลายระบบประสาทส่วนกลาง ทั้งแบบเฉียบพลันและไม่เฉียบพลัน 


2. การแยกตัว ปัญหาพฤติกรรมในกลุ่มคนที่ครอบครองพื้นที่เล็ก ๆ เป็นเวลานาน ส่งผลให้พฤติกรรม อารมณ์ การรับรู้ ภาวะทางจิต การนอนหลับ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนไปในทิศทางที่แย่ลง ยิ่งมนุษย์ถูกจำกัดและอยู่อย่างโดดเดี่ยวมากเท่าไร ยิ่งมีแนวโน้มที่พัฒนาการทางอารมณ์และพฤติกรรมจะแย่ลง


3. ระยะห่างจากโลก การวางแผนและความพอเพียงคือหัวใจสำคัญ ยกตัวอย่างกรณีของดาวอังคาร ดาวอังคารอยู่ห่างจากโลกโดยเฉลี่ย 140 ล้านไมล์ หรือราว ๆ 225 ล้านกิโลเมตร จึงทำให้การสื่อสารล่าช้าไปถึง 20 นาที และมีความเป็นไปได้ที่อุปกรณ์จะล้มเหลว นักบินอวกาศจะต้องสามารถปฏิบัติภารกิจให้สำเร็จได้ด้วยตนเอง พวกเขาต้องมีอาหาร ยา และเวชภัณฑ์ที่ถูกต้องเพื่อประทังชีวิตไว้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง


4. สนามแรงโน้มถ่วง ด้วยแรงโน้มถ่วงที่ต่างไปจากโลกค่อนข้างมาก การประสานกันของศีรษะกับตาและมือและตา การทรงตัว การเคลื่อนไหว และอาจทำให้เกิดอาการเมารถ กระดูกสูญเสียแร่ธาตุทำให้ความหนาแน่นลดลง กล้ามเนื้อสูญเสียความแข็งแรงและความอดทน ระบบหัวใจและหลอดเลือดจะเสื่อมสภาพ การเปลี่ยนแปลงของของไหลอาจสร้างแรงกดดันต่อดวงตาทำให้เกิดปัญหาในการมองเห็น


5. สิ่งแวดล้อมภายในยานอวกาศ ระบบนิเวศภายในยานอวกาศมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของนักบินอวกาศ จุลินทรีย์สามารถเปลี่ยนลักษณะเฉพาะในอวกาศ และจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติในร่างกายของคุณจะถูกถ่ายโอนจากคนสู่คนได้ง่ายขึ้นในแหล่งที่อยู่อาศัยปิด ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนความเครียดที่เพิ่มขึ้นเปลี่ยนแปลงระบบภูมิคุ้มกันซึ่งนำไปสู่อาการแพ้ การเจ็บป่วย และโรคภัยไข้เจ็บ


ในอดีต มนุษย์เองก็เคยสร้างแบบจำลองสภาพแวดล้อมดวงจันทร์ขึ้นมาเพื่อให้นักบินอวกาศทดลองอยู่ในสภาพแวดล้อมนั้น ก่อนจะถูกส่งไปปฏิบัติภารกิจบนดวงจันทร์จริง ๆ โดยเป้าหมายหลักของโครงการเฮลาในตอนนี้คือดาวอังคาร อันเป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะเดียวกันที่ตั้งเป้าเป็นสถานีต่อไปที่จะส่งนักบินอวกาศไปสำรวจ และอาจมีการสร้างอาณานิคมบนดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้เกิดขึ้นในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า นอกจากนี้ยังมีการจำลองสภาพแวดล้อมในแถบอาร์กติก ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมบนโลกที่ยากต่อการอยู่อาศัยของมนุษย์


ข้อมูลและภาพจาก www.nasa.gov

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง