TNN online ชุดนักบินอวกาศใหม่ เบาสบาย ใช้หุ่นยนต์นิ่มเป็นข้อต่อระหว่างชุด

TNN ONLINE

Tech

ชุดนักบินอวกาศใหม่ เบาสบาย ใช้หุ่นยนต์นิ่มเป็นข้อต่อระหว่างชุด

ชุดนักบินอวกาศใหม่ เบาสบาย ใช้หุ่นยนต์นิ่มเป็นข้อต่อระหว่างชุด

ทีมวิศวกรพัฒนาชุดนักบินอวกาศใหม่ ใช้หุ่นยนต์แบบนิ่มเป็นข้อต่อระหว่างชุด เบาสบายกว่าเดิมแต่ยังคงคุณสมบัติที่ชุดนักบินอวกาศควรจะมี

ทีมวิศวกรจากมหาวิทยาลัยเทกซัสเอแอนด์เอ็ม (Texas A&M University) นำโดยอนา ดิแอซ อาร์ไทล์ส (Ana Diaz Artiles) กำลังพัฒนาชุดนักบินอวกาศยุคใหม่หรือสมาร์ตสูท (SmartSuit) ที่มีข้อต่อเป็นหุ่นยนต์แบบนิ่ม เพื่อให้นักบินอวกาศสวมใส่ได้สะดวกสบายขึ้น แต่ยังคงคุณสมบัติเดิมที่ชุดนักบินอวกาศควรจะมี เช่น ความสามารถในการป้องกันสุญญากาศ ความร้อน ความเย็น รังสี และอื่น ๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อมนุษย์


ปัจจุบันชุดอวกาศแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. ชุดสวมใส่สำหรับกิจกรรมภายในยานอวกาศ IVA (intravehicular activity)

2. ชุดสวมใส่สำหรับกิจกรรมภายในและนอกยานอวกาศ IEVA (intra/extravehicular activity)

3. ชุดสวมใส่สำหรับกิจกรรมภายนอกยานอวกาศ EVA (extravehicular activity)


ซึ่งชุดนักบินอวกาศโดยเฉพาะประเภทสวมใส่สำหรับกิจกรรมภายนอกยานมักมีขนาดที่ใหญ่เทอะทะและหนักมาก เมื่อครั้นที่นักบินอวกาศอะพอลโล 13 (Apollo 13) เดินทางไปเยือนดวงจันทร์ นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong) ต้องใช้วิธีกระโดดแทนการเดินไปข้างหน้าเพื่อต่อสู้กับความเทอะทะของชุด


ทั้งนี้ ทีมวิศวกรจากมหาวิทยาลัยเทกซัสเอแอนด์เอ็มต้องการเปลี่ยนข้อต่อของชุดแบบเดิมซึ่งเป็นตัวสูบลมให้กลายมาเป็นหุ่นยนต์แบบนิ่ม ซึ่งจะยังคงความสามารถในการรักษาตำแหน่งข้อต่อของชุดเอาไว้ แต่สร้างแรงดันกดลงบนร่างกายของนักบินอวกาศเพียง 1 ใน 4 ของชุดนักบินอวกาศแบบเก่า โดยเหล่าวิศวกรได้นำชุดต้นแบบมาลองใช้กับหุ่นยนต์ทดลอง พบว่าชุดนักบินอวกาศแบบใหม่สามารถช่วยนักบินอวกาศประหยัดพลังงานไปได้หลายแคลอรีและยังช่วยให้เหงื่อออกน้อยลงขณะสวมใส่


เป้าหมายสูงสุดของโครงการคือนำหุ่นยนต์แบบนิ่มมาแทนข้อต่อในชุดอวกาศจริงแบบเต็มตัว ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้ชุดสวมใส่สบายขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยลดอันตรายจากการเจ็บป่วยจากการบีบอัดและลดความจำเป็นในการหายใจด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ก่อนจะสวมชุด


ข้อมูลจาก www.nasa.gov

ภาพจาก www.nasa.gov

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง