TNN online ทวิตเตอร์รับข้อเสนอเข้าซื้อกิจการของอีลอน มัสก์ มูลค่า 1,500,000 ล้านบาท

TNN ONLINE

Tech

ทวิตเตอร์รับข้อเสนอเข้าซื้อกิจการของอีลอน มัสก์ มูลค่า 1,500,000 ล้านบาท

ทวิตเตอร์รับข้อเสนอเข้าซื้อกิจการของอีลอน มัสก์ มูลค่า 1,500,000 ล้านบาท

อีลอน มัสก์มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก เคยประกาศต้องการสร้างสังคมออนไลน์ที่มีเสรีภาพในการโพสทวีตต่าง ๆ

อีลอน มัสก์มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก บรรลุข้อตกลงเข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์ (Twitter) เครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดแห่งหนึ่งของโลก ด้วยมูลค่า 54.20 ดอลลาร์ฯ ต่อหุ้น รวม 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1,500,000 ล้านบาท นับเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญภายหลังการก่อตั้งบริษัท 16 ปี 


ก่อนหน้านี้ในช่วงต้นเดือนเมษายนอีลอน มัสก์เคยมีข่าวการเข้าซื้อหุ้น 9.2% ของบริษัททวิตเตอร์และกลายเป็นผู้ถือหุ้นสูงสุดของบริษัท โดยไม่เข้าร่วมนั่งในคณะกรรมการบริหารของบริษัท ซึ่งในขณะนั้นผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากอีลอน มัสก์กำลังมีแผนการใหญ่มากกว่าเข้าซื้อหุ้นและเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เพียงอย่างเดียว 


ในช่วงกลางเดือนเมษายน อีลอน มัสก์กลายเป็นข่าวใหญ่อีกครั้งเมื่อเขาเสนอซื้อกิจการทวิตเตอร์ (Twitter) ด้วยเงินสดมูลค่ากว่า 41,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1,400,000 ล้านบาท แต่ทางกรรมการผู้บริหารบริษัทแสดงท่าทีปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวและออกมาตรการยาพิษ หรือ Poison Pill เพื่อสกัดไม่ให้ อีลอน มัสก์ ซื้อหุ้นของทวิตเตอร์สำเร็จ


ความสำเร็จในการเข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์ของอีลอน มัสก์ในครั้งนี้ถูกเปิดเผยโดยคณะกรรมการบริหารบริษัททวิตเตอร์ว่าทางบริษัทได้พิจารณาอย่างละเอียดก่อนขายกิจการทวิตเตอร์ให้อีลอน มัสก์และเชื่อว่าจะเป็นหนทางที่ดีสำหรับทวิตเตอร์และผู้ใช้งาน รวมไปถึงผู้ถือหุ้นของบริษัท 


โดยปัจจุบันอีลอน มัสก์เป็นหนึ่งในผู้ใช้งานทวิตเตอร์ที่มีผู้ติดตามอันดับต้น ๆ ของโลกจำนวนมากกว่า 84 ล้านคน และมักเคลื่อนไหวด้วยการโพสทวีตข้อความต่าง ๆ บ่อยครั้งอย่างตรงไปตรงมา


อย่างไรก็ตามประเด็นการเข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์ของอีลอน มัสก์ยังคงต้องติดตามกันต่อไป เนื่องจากก่อนการเข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์อีลอน มัสก์เคยประกาศว่าต้องการนำบริษัททวิตเตอร์ออกจากตลาดหุ้นและการตัดเงินผลประโยชน์ที่ผู้บริหารชุดเก่าจะได้รับ รวมไปถึงการปรับรูปแบบการให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ของทวิตเตอร์ให้มีเสรีภาพซึ่งเป็นโจทย์ที่ท่าทายท่ามกลางผู้ใช้งานจำนวนมากที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมรวมไปถึงข้อกฎหมายของแต่ละประเทศ


ที่มาของข้อมูล CNBC

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง