TNN online "บัตรทอง รักษาทุกที่" ไขข้อสงสัย 6 เรื่องที่ผู้ป่วยมักเข้าใจผิด

TNN ONLINE

Social Talk

"บัตรทอง รักษาทุกที่" ไขข้อสงสัย 6 เรื่องที่ผู้ป่วยมักเข้าใจผิด

บัตรทอง รักษาทุกที่ ไขข้อสงสัย 6 เรื่องที่ผู้ป่วยมักเข้าใจผิด

เพจดัง "Drama-addict" ให้ความรู้เกี่ยวกับนโยบาย "บัตรทอง รักษาได้ทุกที่" เผย 6 เรื่องที่ผู้ป่วยมักเข้าใจผิด

วันนี้ (26 ต.ค.63) จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ในการยกระดับระบบสวัสดิการแห่งรัฐด้านสาธารณสุข ด้วยการยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรณีประชาชนผู้มีสิทธิ์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) สามารถเข้ารับการรักษาที่ใดก็ได้ และยกเลิกการต้องใช้ใบส่งตัวของผู้ป่วยในกรณีมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนสถานที่รักษาพยาบาล นั้น

ล่าสุด เพจเฟซบุ๊กหมอชื่อดัง "Drama-addict" ได้โพสต์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบาย "บัตรทอง รักษาทุกที่" เพื่อป้องกันความสับสนที่อาจเกิดขึ้นของประชาชน โดยขอให้ศึกษารายละเอียดของนโยบายที่ว่าให้ดีๆ ก่อน ไม่เช่นนั้นอาจจะเสียเวลาในการเดินทางไปรักษา โดยระบุว่า

1. นโยบายนี้ เริ่มใช้ใน กทม. และปริมณฑล ยังไม่รวมถึงต่างจังหวัดอื่นๆ

2. นโยบายนี้ ที่ระบุว่า "รักษาที่ไหนก็ได้" หมายถึง สถานบริการระดับปฐมภูมิ เบื้องต้นมี หน่วยบริการชุมชนอบอุ่น คลินิคชุมชนอบอุ่น หรือ รพ.สต. ไม่ได้รวมถึง รพ.ใหญ่ๆ เช่น รพ.จังหวัด รพ.ศูนย์ อย่างเช่น รพ.รามา รพ.ศิริราช รพ.ราชวิถี แบบนั้นไม่เกี่ยว

ดังนั้น จะเดินหิ้วยาไปหาหมอที่ศิริราช รามา แล้วบอกว่าขอย้ายมารักษาที่นี่ ตามนโยบายรักษาทุกที่ ไม่ได้นะ เพราะที่นั่นไม่ใช่ระดับปฐมภูมิ

3. ฝากถึงพ่อแม่พี่น้องที่จะย้ายสถานที่รับบริการตามนโยบายนี้ว่า "อย่าย้ายบ่อย" โดยเฉพาะคนเป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือด ต้องใช้เวลาในการปรับยา ปรับไลฟ์สไตล์ ปรับการคุมอาหารออกกำลังกาย บางคนหมอไม่เน้นจ่ายยาเยอะ แต่จะพยายามให้คนไข้ปรับแบบนี้ ซึ่งใช้เวลาเยอะกว่า แต่ยั่งยืนกว่า

แต่ถ้าคนไข้ไม่เข้าใจแล้วพอเห็นว่า น้ำตาลไม่ลง ความดันไม่ลง ขอย้ายดีกว่า พอไปเจอสถานบริการที่ใหม่ก็ต้องเริ่มกันใหม่ เสียเวลาโดยใช่เหตุ แล้วถ้าไปเจอแบบจ่ายยาเยอะๆ ไม่ค่อยแนะนำเรื่องออกกำลังกายคุมอาหาร คนไข้อาจจะถูกใจ แต่นั่นไม่ใช่เรื่องดีในระยะยาว ควรปรึกษาเจ้าหน้าที่ก่อนย้ายสถานบริการดีกว่า ถ้าไม่สะดวกไม่ถูกใจจริงๆ ก็ย้ายได้เลย แต่ถ้าตรงนั้นไปมาไม่ลำบาก แต่อยากย้ายเพราะไม่ถูกใจที่หมอไม่จ่ายยาตามที่ต้องการ อันนี้อย่าเลย เคสแบบนี้มีเยอะมาก

4. ส่วนประเด็นเรื่อง "ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว" หมายถึง กรณีเคสแอดมิท เพราะระบบที่ผ่านมาจะเป็นแบบ สมมติ ลุง A ไม่สบายแล้วอยู่ในเมืองพอดี ก็เลยแอดมิทในรพ.จังหวัด แล้วจะใช้สิทธิ 30 บาท ก็ต้องให้ญาตินั่งรถกลับไปที่อำเภอที่ตัวเองอยู่ แล้วไป รพ.ชุมชนให้หมอออกใบส่งตัวให้ แล้วเอากลับมาที่ รพ.จังหวัด อีกที ซึ่งการแก้ไขในนโยบายใหม่ที่ยกเลิกอันนี้ไปเลยแล้วใช้ออนไลน์แทนถือว่าดีมาก คนไข้จะสะดวกขึ้นเยอะ

5. แต่ไม่เกี่ยวกับกรณีเคสไม่สบาย ไป รพ.แล้วหมอคิดว่าต้องส่งตัวไปเจอหมอเฉพาะทาง หรือส่งไป รพ.ที่มีความพร้อมมากกว่า แบบนั้นยังต้องใช้ใบส่งตัวอยู่ดี แต่ถ้าในอนาคตถ้าเปลี่ยนอันนี้เป็นออนไลน์หมดจะดีมาก

6. แต่จากข้อ 5 มีข้อยกเว้น คือ "กรณีเป็นโรคมะเร็ง" ปรับระบบใบส่งตัวเป็นออนไลน์แล้ว จะได้สะดวกขึ้น

ดังนั้น ขอให้เข้าใจตามนี้ จะได้ใช้นโยบายใหม่ที่ว่าอย่างมีประสิทธิภาพและไม่เกิดความสับสน

เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง