TNN online เพจดัง ชี้ "ซากเชื้อโควิด-19" ไม่น่ากลัว แพร่เชื้อต่อไม่ได้

TNN ONLINE

Social Talk

เพจดัง ชี้ "ซากเชื้อโควิด-19" ไม่น่ากลัว แพร่เชื้อต่อไม่ได้

เพจดัง ชี้ ซากเชื้อโควิด-19 ไม่น่ากลัว แพร่เชื้อต่อไม่ได้

เพจ "หมอเวร" ให้ความรู้หลัง สธ.ประกาศพบผู้ติดโควิด 2 ราย เคยกักตัวครบ 14 วัน ผลตรวจพบเชื้อพบเป็นซากเชื้อ ยืนยัน “ซากเชื้อ" โควิด-19 ที่ตายแล้วไม่สามารถแพร่เชื้อต่อได้

จากกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขแถลงยืนยัน พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 2 ราย เป็นเพศหญิงทั้ง 2 ราย เดินทางกลับจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเข้ากักตัวในสถานกักกันโรคของรัฐ ครบ 14 วันแล้ว และได้ออกจากสถานกักกันโรคฯ ผลตรวจพบเชื้อโควิด-19 รายแรกเป็นซากเชื้อ มีภูมิคุ้มกันแล้ว อีกรายต้องรอผลตรวจละเอียด ย้ำชัดยังไม่ใช่ระบาดรอบสอง

วันนี้ (20 ส.ค.63) เพจเฟซบุ๊ก “หมอเวร” ได้ออกมาให้ความรู้เรื่อง “ซากเชื้อ” โดยระบุว่า "หลายคนที่สงสัยว่าผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายล่าสุด ที่ว่าตรวจเจอ แต่เจอเป็นซากเชื้อ ซากเชื้อมันคืออะไร ถ้าเชื้อตายแล้วจริงๆทำไมตรวจเจอ จะเหลาให้ฟังงี้นะ การตรวจแบบ PCR เนี่ย เป็นการตรวจที่มีความไวสูงมาก แค่เจอเชื้อที่หลงเหลืออยู่ในสารคัดหลั่งแค่ปริมาณนิดเดียวก็สามารถตรวจเจอแล้ว แถมบางครั้งไอ้เจ้าเชื้อที่ตรวจเจอเนี่ย บอกไม่ได้ด้วยนะ ว่าเจอตัวที่มันเป็นๆอยู่ หรือเจอตัวที่ตายแล้ว“มันบอกได้แค่ว่า ตรวจเจอเชื้อชนิดนี้อยู่ในร่างกายเราเท่านั้น

นึกภาพว่า PCR คือเซลล์ขายรถคนนึงที่ขยันมาก และดูเป็นคนซื่อๆ ส่วนเต๊นท์รถในสต็อกของร้านก็คือร่างกายของเราแทนสมมุติวันนึงเราสั่งให้ PCR ไปเช็คว่า ในลานจอดยังมีรถโตโยต้าเหลืออยู่บ้างไหม ด้วยความที่ PCR เป็นคนซื่อๆ เห็นโตโยต้าจอดอยู่คันนึง ก็รีบวิ่งมารายงานบอสเลยว่าเจอรถแล้ว ทั้งๆที่รถคันนั้นเป็นรถที่ใช้งานได้ หรือจริงๆแล้วเป็นแค่ซากรถที่จอดตายเอาไว้เฉยๆ ฉะนั้นแทนที่การตรวจ PCR จะไปจับมันทั้งตัว ก็จะเอาแค่ส่วนหนึ่งที่บ่งชี้ว่าคือไวรัสตัวนี้แล้วเอาผลมาบอกเราอีกที ซึ่งจริงๆ มันอาจเป็นแค่ “ซากเชื้อ COVID-19” ที่ตายแล้ว ไม่สามารถแพร่เชื้อต่อให้ใครแล้วก็ได้

ฉะนั้น ก็มีความเป็นไปได้สำหรับคนไข้ที่ติดเชื้อบางคน อาจเคยรับเข้ามาในร่างกายจริง และภูมิคุ้มกันก็รุมยำจนเชื้อมันน่วมตายจนกลายเป็นซากไปแล้ว แต่พอตรวจ PCR ทีไร ก็ยังเจอผลเป็นบวกอยู่นั่นเอง

ส่วนเชื้อที่เจออยู่ในการตรวจ จะระบุได้ว่าเป็นซากเชื้อ หรือสามารถแพร่เชื้อต่อให้คนอื่นอีกได้ไหม อันนี้ก็ต้องลองเอาไปเพาะเชื้อดูอีกที แล้วก็ไม่ได้เพาะกันง่ายๆเหมือนเพาะถั่วงอกนะ ต้องเอาไปเพาะบนเซลล์ที่มีชีวิตด้วยนะ ซึ่งตรงนี้ใช้ขั้นตอนที่วุ่นวาย รวมถึงมีต้นทุนที่แพงมากด้วย วิธีนี้ส่วนใหญ่มันเหมาะกับการทำวิจัยมากกว่า ไม่ค่อยนิยมใช้ในการตรวจรักษาเท่าไหร่หรอกนะ"

เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง