TNN online ทำความรู้จัก ‘ดอกลำดวน’ ดอกไม้ประจำชาติกัมพูชา ชนวนดรามา ‘บุพเพสันนิวาส 2’

TNN ONLINE

Social Talk

ทำความรู้จัก ‘ดอกลำดวน’ ดอกไม้ประจำชาติกัมพูชา ชนวนดรามา ‘บุพเพสันนิวาส 2’

ทำความรู้จัก ‘ดอกลำดวน’ ดอกไม้ประจำชาติกัมพูชา ชนวนดรามา ‘บุพเพสันนิวาส 2’

ทำความรู้จัก ‘ดอกลำดวน’ ดอกไม้ประจำชาติกัมพูชา ชนวนเหตุดรามาข้ามประเทศจากโปสเตอร์ ‘บุพเพสันนิวาส 2’

วันนี้ ( 24 ก.ค. 65) เกิดเป็นกระแสสงครามผ่านโลกโซเชียลไปเมื่อวานที่ผ่านมา จากกรณีดรามา ‘ดอกลำดวน’ หลังจากที่เพจ GDH ได้เผยโปสเตอร์ โฆษณาหนัง ‘บุพเพสันนิวาส 2’ โดยมีดอกลำดวนอยู่ในนั้นด้วย จนทำให้ชาวเน็ตกัมพูชาท่านหนึ่งเข้ามาแสดงความเห็น โดยระบุว่า “ขอบคุณสำหรับการส่งเสริมดอกไม้ประจำชาติกัมพูชา ให้โลกรู้ แต่ครั้งหน้าอย่าลืมให้เครดิตเจ้าของด้วย” จนเกิดประเด็นถกเถียงกันยืดยาวระหว่างคนไทยและคนกัมพูชา เกี่ยวกับประเด็นการแย่งชิงวัฒนธรรมของชาติ 

มอง ‘ดอกลำดวน’ ผ่านสายตาชาวกัมพูชา

อย่างไรก็ตามหากมองข้ามดรามาไป ‘ดอกลำดวน’ นับเป็นดอกไม้ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาอย่างยาวนาน และ ประเทศกัมพูชาได้ยกย่องให้ดอกลำดวนเป็นดอกไม้ประจำชาติ ดอกลำดวน หรือ ดอกผการ็อมดวล ในภาษาเขมร  พระบาทสมเด็จ พระบรมนาถนโรดม สีหมุนี พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ได้ตราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ประจำชาติกัมพูชา ประกาศ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2548 ให้ดอกลำดวนเป็นดอกไม้ประจำชาติของราชอาณาจักรกัมพูชา และเป็น 1 ใน 7 อย่างของสัญลักษณ์ราชอาณาจักรกัมพูชา ทำให้ในหลายพื้นที่ของราชอาณาจักรกัมพูชาได้รับการตั้งชื่อตามดอกไม้ชนิดนี้ เช่น ตำบล Rumdoul และ Ou Rumduol ดังนั้น ผู้คนในประเทศกัมพูชาจึงนิยมปลูกต้นลำดวนไว้ตกแต่งตามบริเวณบ้านเรือน และในสวนสาธารณะ

คนกัมพูชาโบราณนิยมใช้ดอกลำดวนมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสีผึ้งทาริมฝีปากสำหรับผู้หญิง ซึ่งถูกเรียกว่า kramuon rumduol สำหรับลำต้นของลำดวนสามารถนำมาใช้สำหรับเป็นวัสดุในการก่อสร้างบ้านเรือนตลอดจนใช้ประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ และเป็นฟืนได้ 

ดอกลำดวนนั้นมีกลิ่นหอมหวล นักกวีนิพนธ์ชาวเขมรจึงได้นำดอกลำดวนไปใช้ในการเปรียบเทียบความงดงาม และหอมหวนกับสตรีดังจะเห็นได้จากบทเพลงในหลายบทเพลง อาทิ Rumdul Kraties และ Rumdul Pursat เป็นต้น 

นอกจากนี้ ดอกลำดวน ยังเป็นชื่อที่ชาวกัมพูชานำไปตั้งชื่อให้กับพันธุ์ข้าวที่ปลูกกันในประเทศ ชื่อว่า ข้าวหอมพันธุ์ดอกลำดวล และเมื่อการประกวดพันธุ์ข้าวเมื่อปี 2012 ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย.ข้าวหอมกัมพูชา พันธุ์ดอกลำดวน คว้ารางวัลที่ 1 ข้าวหอมพื้นเมืองพันธุ์ดอกลำดวน (Rumduon) ซึ่งเป็นข้าวจ้าวเม็ดเล็ก กลิ่นหอมจัด รสนุ่มนวล เมื่อปลูกด้วยวิธีธรรมชาติ ข้าวหอมพื้นเมืองลำดวนได้ชื่อว่าเป็นข้าวคุณภาพดีที่สุดในประเทศกัมพูชา มีราคาแพง และ ยังเคยได้รับรางวัลร่วมกับข้าวหอมมะลิของไทยในเวทีการประชุมข้าวโลก World Rice Conference ประจำปี 2014 และเป็นความหวังใหม่ของวงการตลาดข้าวของกัมพูชาอีกด้วย 

คนไทยรู้จัก ‘ดอกลำดวน’ แบบไหน?

ทำความรู้จัก ‘ดอกลำดวน’ ดอกไม้ประจำชาติกัมพูชา ชนวนดรามา ‘บุพเพสันนิวาส 2’

สำหรับ ดอกลำดวน  หรือ ดอกหอมนวล ตามชื่อเรียกของภาคเหนือ ในวัฒนธรรมของประเทศไทยนั้น เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดของศรีสะเกษ และ มีการจัดงานเทศกาลดอกลำดวนบาน ที่สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ที่มีต้นลำดวนกว่า 40,000 ต้น ถือว่าเป็นสวนที่มีต้นลำดวนมากที่สุดในโลก 

ดอกลำดวนยังเป็นดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง อีกทั้งยังเป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ เนื่องจากลำดวนเป็นไม้ที่อายุยืน ไม่ทิ้งใบ จึงเขียวชอุ่มให้ร่มเงาตลอดปี ดุจดัง ผู้สูงอายุซึ่งเป็นที่พึ่งให้ความร่มเย็นแก่ลูกหลานเสมอ นอกจากนั้นดอกลำดวนยังมีกลิ่นหอม กลีบดอกแข็งแรง ไม่ร่วงง่าย เปรียบได้กับผู้สูงอายุที่ทรงคุณธรรม ความดีงาม ไว้เป็นแบบอย่างแก่สังคมเสมอมา

นอกจากนี้ขนมของไทย ก็มีชื่อว่า ขนมกลีบลำดวน โดยรูปทรงของขนมจะคล้ายคลึงกันกับรูปทรงของดอกลำดวน ซึ่งขนมกลีบลำดวนนั้น เป็นขนมที่ทำจากแป้งสาลีเคล้าน้ำตาลกับน้ำมัน ปั้นเป็นดอก 3 กลีบ และมีเกสรกลม ๆ ตรงกลางอย่างดอกลำดวน แล้วนำไปอบหรือผิงจนสุก และนำไปอบด้วยควันเทียนหอมเป็นขั้นตอนสุดท้าย ขนมดอกลำดวน หรือ ขนมกลีบดอกลำดวน เป็นขนมที่เป็นมงคล มีความหมายที่ดี ซึ่งหมายถึง ช่วยทำให้ชื่อเสียงขจรขจายไปไกล และยังมีความหมาย สร้างความงดงามให้กับชีวิตคู่ คนเฒ่าคนแก่เลยมักใช้ประกอบพิธีงานแต่งงาน ขณะที่ GDH ได้นำดอกลำดวนมาประกอบอยู่ในโปสเตอร์ภาพยนตร์   บุพเพสันนิวาส 2 โดยให้เป็นสัญลักษณ์‘ความรัก’ ที่ยั่งยืน ระหว่างคู่พระเอก-นางเอกจนกลายเป็นประเด็นดรามาข้ามชาติ 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของ ดอกลำดวน 

ดอกลำดวนเป็นไม้ยืนต้นออกดอกสีขาวหรือสีเหลืองนวล มีกลิ่นหอม กลีบดอกมี 6 กลีบ เรียงเป็น 2 วง วงนอกมี 3 กลีบ วงใน 3 กลีบ มีลักษณะหนาทึบและแข็ง ซึ่งดอกจะบานเต็มที่ในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี กลิ่นของดอกลำดวนจะหอมมากในเวลาค่ำ มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ พบได้ในประเทศคาบสมุทรอินโดจีน คาบสมุทรมลายู


ข้อมูลจาก  : อุทยานหลวงราชพฤกษ์

ภาพจาก  :  เพจ GDH / AFP