TNN online "ยุติธรรม" ชงแก้กฎหมายใหม่ เด็กต่ำกว่า 12 ปี ไม่ต้องรับโทษ

TNN ONLINE

สังคม

"ยุติธรรม" ชงแก้กฎหมายใหม่ เด็กต่ำกว่า 12 ปี ไม่ต้องรับโทษ

ยุติธรรม ชงแก้กฎหมายใหม่ เด็กต่ำกว่า 12 ปี ไม่ต้องรับโทษ

กระทรวงยุติธรรม ชงแก้ไขกฎหมายอาญา ปรับเพิ่มเกณฑ์อายุขั้นต่ำในการรับโทษทางอาญา ช่วยลดอัตราการกระทำผิดซ้ำ

17 พฤศจิกายน 2564   พันตำรวจโท พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม เปิดเผยว่า ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม และนางขัตติยา รัตนดิลก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม สำนักงานกิจการยุติธรรม ได้เข้าร่วมการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อร่วมแถลงและชี้แจงรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ซึ่งกระทรวงยุติธรรม โดยสำนักงานกิจการยุติธรรมเป็นผู้ยกร่างกฎหมาย และทางคณะกรรมาธิการวิสามัญฯได้พิจารณาเสร็จแล้ว โดยสภาผู้แทนราษฎรได้เห็นชอบ หลักการและสาระสำคัญของร่างกฎหมาย คือ “การปรับเพิ่มเกณฑ์อายุขั้นต่ำในการรับโทษทางอาญา จากเดิม 10 ปี แก้ไขเป็น 12 ปี” โดยเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา 2 มาตรา ได้แก่ มาตรา 73 และมาตรา 74 ไปแล้ว และได้ส่งร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาต่อไป


พันตำรวจโท พงษ์ธร เปิดเผยอีกว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เล็งเห็นว่าการนำเด็กเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่อายุยังน้อย จะมีแต่ผลเสียมากกว่าผลดี จึงเกิดการผลักดันร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน และสังคมโดยตรง ซึ่งมิติการทำงานของร่างกฎหมายใหม่จะมุ่งเน้นให้เด็กได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมกับช่วงวัย และพัฒนาการทางด้านร่างกาย จิตใจ ความคิด การใช้ภาษาและการแก้ปัญหา และต่อครอบครัวและสังคม จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการประกันตัว และยังช่วยลดอัตราการกระทำผิดซ้ำ ตลอดจนภาพรวมของประเทศ คือจะทำให้ไทยเราทำตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child -CRC) และกลไกของ Universal Periodic Review (UPR)


ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรม โดยสำนักงานกิจการยุติธรรมจะขับเคลื่อนเรื่องการเตรียมความพร้อมในการบังคับใช้กฎหมาย ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน และกระบวนการคุ้มครองสวัสดิภาพและสงเคราะห์เด็ก รวมถึงผลักดันเรื่องดังกล่าวผ่านทางคณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายและการบังคับใช้ ของคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) ต่อไป

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง