TNN online เปิด 5 โรคในผู้สูงอายุที่ควรระวังในช่วงฤดูหนาว พร้อมวิธีรับมือ

TNN ONLINE

สังคม

เปิด 5 โรคในผู้สูงอายุที่ควรระวังในช่วงฤดูหนาว พร้อมวิธีรับมือ

เปิด 5 โรคในผู้สูงอายุที่ควรระวังในช่วงฤดูหนาว พร้อมวิธีรับมือ

กรมการแพทย์ แนะวิธีรับมือ 5 โรคสำหรับ "ผู้สูงอายุ" ช่วงหน้าหนาว มีอะไรบ้างเช็กเลยที่นี่

วันนี้( 15 พ.ย.64) นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เมื่อย่างเข้าสู่ช่วงปลายปี อุณหภูมิอากาศหนาวเย็นลงส่งผลต่อสุขภาพผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก แม้ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรงก็ไม่ควรละเลยการรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้อบอุ่นเสมอ สวมใส่เสื้อผ้าที่มีความหนาเพียงพอ

นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศเย็น ในเวลากลางคืนควรห่มผ้าให้ร่างกายอบอุ่น เคลื่อนไหวร่างกายบ่อยๆ กินอาหารร้อนๆ ปรุงสุกใหม่ หลากหลายให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำอุ่นๆวันละ 6-8 แก้ว และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ (ประมาณ 7-9 ชั่วโมง)

ด้านนายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการ สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคที่ผู้สูงอายุต้องเตรียมตัวรับในช่วงอากาศหนาวเย็นนั้น 

ประกอบด้วย

1. โรคติดต่อทางการหายใจ เช่นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ มักพบการแพร่ระบาดในช่วงนี้และอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ไม่มีอากาศถ่ายเท มีคนอยู่หนาแน่น ล้างมือบ่อย ๆ ไม่ใกล้ชิดหรือคลุกคลีกับผู้ป่วย และใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา

2. ปัญหาเรื่องโรคผิวหนัง เช่น ผิวแห้ง ผิวหนังอักเสบ ผื่น และคัน เนื่องจากผู้สูงอายุมีไขมันใต้ผิวหนังน้อยและต่อมไขมันทำงานลดลง ทำให้ผิวหนังสูญเสียความชุ่มชื้นได้ง่าย ดังนั้น ผู้สูงอายุควรให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ ใส่เสื้อผ้าหนาๆและควรทาโลชั่นหรือน้ำมันทาผิวหลังอาบน้ำ สำหรับผู้สูงอายุที่แพ้ง่ายควรใช้โลชั่นที่ไม่ใช้สารเคมีรุนแรงหรือโลชั่นสำหรับเด็ก

3. โรคในระบบไหลเวียนเลือด เช่นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมอง ยิ่งในช่วงอากาศหนาวเย็น ผู้สูงอายุมักจะออกกำลังกายน้อยลง หรือ กินอาหารที่มีไขมันสูง ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานหนักขึ้น ผู้สูงอายุจึงควรดูแลให้ร่างกายอบอุ่นเสมอ ระมัดระวังเรื่องอาหารที่มีไขมันสูงๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอและควรปรึกษาแพทย์เมื่อรู้สึกว่าโรคมีอาการหนักขึ้น

4. อุณหภูมิร่างกายลดลงมากผิดปกติ เนื่องจากประสาทการรับรู้อากาศที่หนาวเย็นของผิวหนังผู้สูงอายุมีความไวลดลง ร่างกายไม่สามารถตอบสนองด้วยการหนาวสั่นหรือการหดตัวของกล้ามเนื้อระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมหลอดเลือดที่ผิวหนังไม่ให้สูญเสียความร้อนจากร่างกายก็เสื่อมลง

5. โรคปวดข้อ ผู้สูงอายุที่มีปัญหาปวดข้อเรื้อรังอยู่เดิมเมื่ออากาศที่หนาวเย็นอาจจะกระตุ้นให้โรคข้ออักเสบ เช่นโรคเกาต์ มีอาการรุนแรงขึ้นได้ ควรรักษาความอบอุ่นให้กับร่างกาย ผู้สูงอายุควรหมั่นตรวจสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงเพราะเป็นการป้องกันโรคต่างๆ ได้ดีที่สุด และคนในครอบครัวมีส่วนสำคัญในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่ดีต่อไป


ข้อมูลจาก กรมการแพทย์

ภาพจาก ผู้สื่อข่าว จ.เลย / AFP


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง