TNN online เตือนนายจ้างประกันสังคม ม.33 รีบยื่นขอรับเงินเยียวยาผ่าน e - service เริ่มโอน 10 ส.ค.นี้

TNN ONLINE

สังคม

เตือนนายจ้างประกันสังคม ม.33 รีบยื่นขอรับเงินเยียวยาผ่าน e - service เริ่มโอน 10 ส.ค.นี้

เตือนนายจ้างประกันสังคม ม.33 รีบยื่นขอรับเงินเยียวยาผ่าน e - service เริ่มโอน 10 ส.ค.นี้

เตือนนายจ้างประกันสังคม ม.33 รีบยื่นขอรับเงินเยียวยาผ่าน e - service จ่ายเยียวยาหัวละ 3,000 บาทไม่เกิน 200 คน เริ่มโอนเงินงวดแรกในวันที่ 10 สิงหาคม 2564

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เห็นความยากลำบากและมีความห่วงใยพี่น้องแรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงมีมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการ “ล็อกดาวน์” ในพื้นที่สีแดงเข้ม 13 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา เพิ่มเติม จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา ครอบคลุม 9 ประเภทกิจการ นั้น ได้แก่ กิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรมบริการด้านอาหาร กิจกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ กิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า สาขาขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์ สาขากิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน สาขากิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ และสาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร นั้น


นายสุชาติ กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการเยียวยากลุ่มนายจ้างมาตรา 33 จำนวน 3,000 บาท ต่อลูกจ้างไม่เกิน 200 คน นั้น ขณะนี้มีนายจ้างได้ทยอยยื่นขอรับเงินชดเชยเข้ามาในระบบ e -service โดยในพื้นที่ 13 จังหวัดนั้นมีนายจ้างทั้งหมดประมาณ 180,000 ราย


ทั้งนี้ รมว.แรงงาน ยังได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคม เร่งประชาสัมพันธ์กระตุ้นเตือนไปยังนายจ้างที่ยังไม่ได้ยื่นขอรับค่าชดเชยเยียวยาสามารถยื่นความประสงค์ขอรับเงินได้ที่ ระบบ e – service ของประกันสังคม จากนั้นปริ้นข้อมูลแบบรับการเยียวยาแล้วกรอกข้อมูลตามแบบฟอร์ม ส่งกลับมาให้ประกันสังคมโดยถ้าเป็นนายจ้างที่เป็นนิติบุคคลต้องแนบเลขบัญชีธนาคารกลับมาด้วย แต่ถ้าเป็นนายจ้างบุคคลธรรมดาให้นายจ้างผูกพร้อมเพย์กับบัตรประชาชนเพื่อประกันสังคมจะได้โอนเงินให้โดยเร็ว


” รัฐบาล กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความห่วงใยและเห็นความสำคัญของนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกอบการในพื้นที่สีแดงทุกจังหวัด และเข้าใจดีว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ทำให้ทุกคน ทุกกลุ่ม และหลายกิจการได้รับความเดือดร้อนตาม ๆ กัน จึงอยากให้นายจ้างได้รีบยื่นขอรับเงินเยียวยา อย่างน้อยจะช่วยบรรเทาเพื่อลดผลกระทบในเบื้องต้น และช่วยประคองให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ ตามเจตนารมย์ของรัฐบาลที่จะฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจให้เดินได้ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”นายสุชาติ กล่าวในท้ายสุด


สำหรับการเยียวยากลุ่มผู้ประกอบการนายจ้างในระบบประกันสังคม จะคิดคำนวณจากจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน ได้หัวละ 3,000 บาท จำนวนเงินสูงสุดที่นายจ้างได้รับจะอยู่ที่ 600,000 บาท ซึ่งมีนายจ้างทยอยมายื่นขอรับเงินเยียวยาในระบบ e-service ในขณะนี้ประมาณ 200,000 ราย สำนักงานประกันสังคมพร้อมเริ่มโอนเงินงวดแรกในวันที่ 10 สิงหาคม 2564 แต่ยังมีนายจ้างอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ยื่นขอรับเงินชดเชยเยียวยา ขอให้ท่านดำเนินการยื่นแบบความประสงค์ขอรับเงินโดยด่วน ขั้นตอนคือเข้าระบบ e-service บนเว็บไซต์ www.sso.go.th ของสำนักงานประกันสังคม กรอกข้อมูล แล้วส่งกลับมาให้สำนักงานประกันสังคมในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสถานประกอบการนั้นตั้งอยู่ กรณีนายจ้างที่เป็นนิติบุคคลให้แนบสำเนาบัญชีธนาคารกลับมาด้วย ส่วนนายจ้างบุคคลธรรมดาให้ผูกบัญชีพร้อมเพย์เลขบัตรประชาชน เพื่อสำนักงานประกันสังคมจะโอนเงินได้อย่างรวดเร็ว


โดยนายจ้างและผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข็มงวด 13 จังหวัด ใน 9 กิจการ ให้เข้าไปตรวจสอบสิทธิในเว็บไซต์ประกันสังคม sso.go.th/eform/covid หากเช็คแล้วปรากฏว่าท่านไม่มีสิทธิรับเงินเยียวยา สามารถยื่นขอทบทวนสิทธิกับสำนักงานประกันสังคมเพื่อตรวจสอบนิติสัมพันธ์ ภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 สำนักงานประกันสังคมที่รับผิดชอบจะดำเนินการบันทึกข้อมูลนายจ้างเข้าระบบภายในวันที่ 18 ตุลาคม 2564 หรือกรณีที่นายจ้างมีสำนักงานใหญ่อยู่นอกพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข็มงวด แต่มีสาขาตั้งอยู่ใน 13 จังหวัดที่ได้รับการเยียวยา ขอให้นายจ้างรีบดำเนินการติดต่อสำนักงานประกันสังคมที่รับผิดชอบโดยทันที เพื่อขอจดทะเบียนเพิ่มสาขาหรือขอเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงของประเภทกิจการที่แจ้งไว้เดิมภายใน 1 ตุลาคม 2564 เพื่อการขอรับสิทธิเงินเยียวยาต่อไป หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร 1506 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง