TNN online ทำความรู้จัก "โรคหลายบุคลิก" ที่คนรอบข้างควรเข้าใจ

TNN ONLINE

สังคม

ทำความรู้จัก "โรคหลายบุคลิก" ที่คนรอบข้างควรเข้าใจ

 ทำความรู้จัก โรคหลายบุคลิก ที่คนรอบข้างควรเข้าใจ

โรคหลายบุคลิกมีอยู่จริงไหม แล้วอาการของคนที่ป่วยเป็นโรคดิสโซสิเอทีฟ เหมือนมีหลายคนอยู่ในร่างเดียวกันจะรักษาให้หายได้ไหม มาหาคำตอบกัน



การที่เราจะมีหลายบุคลิกในตัวเองไม่ใช่เรื่องแปลก อย่างถ้าอยู่กับเพื่อนเราจะเป็นคนอีกอย่าง อยู่กับแฟนก็ปฏิบัติตัวอีกอย่าง ทว่าสำหรับบางคนที่มีบุคลิกหน้ามือเป็นหลังมือ เหมือนมีคนอีกหลายคน หลายนิสัยที่ต่างกันมาก ๆ อยู่ในร่างกายเดียวกัน ลักษณะนี้เราจะสันนิษฐานว่าเขาอาจเป็นโรคหลายบุคลิก หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Dissociative Identity Disorder และวันนี้เราจะพามาทำความรู้จักโรคหลายบุคลิกกัน   


โรคหลายบุคลิก Dissociative Identity Disorder คืออะไร


โรคหลายบุคลิกจัดเป็นกลุ่มโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง หรือเรียกได้ว่าเป็นภาวะความผิดปกติของพฤติกรรมแสดงออกอย่างหนึ่ง โดยมีลักษณะสูญเสียความเป็นตัวตน ความจำในอดีต การรับรู้ในเอกลักษณ์ และประสาทสัมผัส รวมทั้งการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย 


กล่าวคือ ผู้ป่วยโรคหลายบุคลิกจะเหมือนมีคนหลายคนในร่างคนคนเดียวกัน และผู้ป่วยอาจมีลักษณะนิสัยและบุคลิกแต่ละบุคลิกแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยโรคหลายบุคลิกมักจะมี 2-4 บุคลิกภาพในคนคนเดียวกัน แต่บางเคสก็มีมากกว่านั้น ซึ่งอาจมีได้มากถึง 150 บุคลิกภาพในคนคนเดียวกัน และแต่ละบุคลิกภาพก็มีความแตกต่างด้านมุมมอง เพศ นิสัยใจคอ การรับรู้ต่อสิ่งรอบตัว หรือแม้กระทั่งอาจมีความแตกต่างทางด้านศาสนาด้วย


ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ ในผู้ป่วยโรคหลายบุคลิก อาจมีลักษณะนิสัยและการแสดงออกถึง 4 แบบ เช่น มีนิสัยที่เป็นเด็ก มีนิสัยเงียบเฉย มีนิสัยก้าวร้าวรุนแรง และมีนิสัยเรียบร้อย หรืออาจจะมีนิสัยที่แตกต่างไปมากกว่านี้ก็เป็นได้ ซึ่งในช่วงที่ผู้ป่วยกลายเป็นอีกคน ตัวผู้ป่วยเองนั้นก็จะไม่รู้ตัว ไม่สามารถควบคุมตัวเองและการแสดงพฤติกรรมบางอย่างได้ รวมทั้งไม่ทราบว่าช่วงเวลาไหนนิสัยไหนจะแสดงพฤติกรรมออกมาด้วย

 

โรคไบโพลาร์  โรคหลายบุคลิก เกิดจากอะไร


ตามหลักจิตวิทยาระบุว่า สาเหตุของโรคหลายบุคลิกภาพอาจเกิดจากความทรงจำที่เลวร้ายในวัยเด็ก (โดยมากเป็นการทารุณกรรมทางเพศ) อาจจะเป็นความกดดันจากการถูกข่มเหงรังแกหรือโดนทำร้ายจิตใจและร่างกายตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งก่อนอายุ 9 ขวบ ซึ่งในช่วงอายุดังกล่าวเด็กยังไม่มีประสบการณ์มากพอที่จะจัดการความรู้สึกแย่ ๆ เหล่านั้น จึงอาจสร้างอีกหนึ่งบุคลิกหรืออีกหนึ่งบุคคลขึ้นมาเพื่อหลบเลี่ยงความเจ็บปวดที่ได้รับ


โรคหลายบุคลิก เกิดกับใครได้บ้าง


อย่างที่บอกว่าสาเหตุของโรคหลายบุคลิกมักจะเกิดกับความรุนแรงที่ได้รับในวัยเด็กจนทำให้ต้องจินตนาการสร้างอีกคนขึ้นมาในชีวิต ซึ่งจากสถิติแล้วพบว่า อาการจะเริ่มแสดงออกในช่วงอายุ 21-30 ปี และโดยปกติจะพบโรคหลายบุคลิกได้บ่อยในประเทศที่กำลังพัฒนา และประเทศตะวันตกมากกว่าในบ้านเรา ทั้งนี้ อัตราการเกิดโรคหลายบุคลิกยังจัดว่าน้อยมาก เพียง 0.01% ของประชากรทั่วไปเท่านั้นเองค่ะ


โรคหลายบุคลิกภาพ อาการเป็นอย่างไร


          อาการของผู้ป่วยโรคหลายบุคลิกจะสามารถสังเกตได้จากลักษณะต่อไปนี้


          - มีหลายบุคลิกในคนเดียวกัน ซึ่งแต่ละบุคลิกนั้นดูแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง


          - เมื่อเปลี่ยนเป็นอีกคนแล้ว จะเปลี่ยนไปทั้งความรู้สึกนึกคิด พฤติกรรมการพูดจา ตรรกะความคิด ความทรงจำ การเรียนรู้และเข้าใจ การปฏิบัติตัวต่อสิ่งรอบข้าง รวมทั้งสูญเสียการควบคุมตนเอง 


          - ผู้ป่วยมักสูญเสียความทรงจำในระหว่างที่เปลี่ยนไปเป็นอีกบุคลิก ไม่รู้ตัวว่าทำอะไรลงไปบ้าง จำไม่ได้ว่าติดต่อกับใคร จำไม่ได้ว่าไปไหน เรียกว่าจำเหตุการณ์อะไรไม่ได้เลย จึงมักจะมีอาการหลง ๆ ลืม ๆ อยู่เสมอด้วย


          - ช่วงเวลาเปลี่ยนบุคลิกอาจเกิดขึ้นตอนไหนก็ได้ และอาจเกิดขึ้นเพียงนาที ชั่วโมง หรืออาจเป็นวัน ๆ 


โรคไบโพลาร์


โรคหลายบุคลิกภาพ อันตรายไหม    


โรคหลายบุคลิกอันตรายไหม คำถามนี้ค่อนข้างตอบยากค่ะ เพราะในช่วงที่เปลี่ยนบุคลิก ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัวว่าจะคิด จะทำอะไรลงไปได้บ้าง โดยอาจจะแค่พูดเยอะขึ้น เงียบขรึมลง หรืออาจมีอาการก้าวร้าวจนสามารถทำร้ายตัวเองและผู้อื่นได้โดยไม่มีความรู้สึกผิดบาปในใจ ดังนั้นในช่วงที่ไม่มีความทรงจำในระหว่างที่เปลี่ยนบุคลิกนั้น ก็ถือว่าเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงสูงมาก จัดว่าอันตรายทั้งต่อตัวเองและคนรอบข้าง


โรคหลายบุคลิก รักษาได้ไหม


โรคหลายบุคลิกสามารถรักษาได้ด้วยวิธีทางจิตวิทยา โดยเริ่มแรกจิตแพทย์อาจจำแนกบุคลิกทั้งหมดที่ซ่อนอยู่ในตัวคนไข้ออกมา และพยายามหาตัวตนที่แท้จริงเพียงหนึ่งเดียวของคนไข้ให้ได้ ซึ่งในกระบวนการนี้ จิตแพทย์อาจเลือกใช้วิธีปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive and Creative Therapies) และใช้ยาในกลุ่มต้านเศร้า และยาคลายกังวลร่วมด้วย ทั้งนี้ในการรักษาโรคหลายบุคลิก อาจต้องใช้เวลารักษายาวนานและตัวผู้ป่วยเองก็ควรต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องด้วยนะคะ


อย่างไรก็ตาม การจะรักษาผู้ป่วยโรคหลายบุคลิกภาพให้หายดีได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับคนรอบข้างด้วยที่ต้องสังเกตอาการของผู้ป่วยและเมื่อพบว่าผู้ป่วยดูเปลี่ยนไปเป็นคนละคน มีพฤติกรรมแปลกไปจากเดิมค่อนข้างมาก ต้องรีบพาเขาไปพบจิตแพทย์โดยด่วน เพราะอย่าลืมว่าผู้ป่วยโรคนี้มักจะไม่รู้ตัวเองว่ามีพฤติกรรมและความคิดผิดไปจากปกตินะคะ ซึ่งก็หมายความว่าเขาอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเป็นผู้ป่วยโรคหลายบุคลิกอยู่




ขอบคุณข้อมูล  / ภาพ   งานการพยาบาลผู้ป่วยนอก แผนกจิตเวช  ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รายการสนุกกับสุขภาพ Happy and Healthy

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิด

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง