TNN online 7 กลุ่มเสี่ยงเตรียมตัวฉีด "วัคซีนไข้หวัดใหญ่" เริ่มวันไหนเช็กที่นี่!

TNN ONLINE

สังคม

7 กลุ่มเสี่ยงเตรียมตัวฉีด "วัคซีนไข้หวัดใหญ่" เริ่มวันไหนเช็กที่นี่!

7 กลุ่มเสี่ยงเตรียมตัวฉีด วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เริ่มวันไหนเช็กที่นี่!

กทม. เตรียมความพร้อมให้บริการ "วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่" 7 กลุ่มเสี่ยง 1 พ.ค. - 31 ส.ค.นี้

วันนี้( 23 มี.ค.64) นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร ได้จัดเตรียมวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เพื่อให้บริการกับประชาชนกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ โรคธารัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) และโรคอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือ BMI มากกว่า 35 กิโลกรัม/ตารางเมตร) ซึ่งทำการรักษาในโรงพยาบาลสังกัด กทม. และศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทุกแห่ง 


โดยสามารถจองสิทธิฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ล่วงหน้าได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 30 เม.ย.64 ผ่าน 4 ช่องทาง ประกอบด้วย 

(1) สายด่วน สปสช. โทร.1330 กด 1 จากนั้นกด 8 ตั้งแต่เวลา 08.30-17.00 น. (ทั่วประเทศ) 

(2) หน่วยบริการประจำ หรือในระบบบัตรทอง (ทั่วประเทศ) 

(3) Line : @UCBKK สร้างสุข (เฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทอง หรือพักอาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ) ให้บริการวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-18.00 น. และวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น. 

(4) Health Wallet ภายในแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” และเข้ารับบริการฉีดวัคซีนฯ ได้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. - 31 ส.ค.64


สำหรับประชาชนที่ไม่อยู่ในข่าย 7 กลุ่มเสี่ยง หากเกิดอาการป่วยเป็นไข้หวัดและอาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง ให้รีบพบแพทย์ทันที โดยประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองสามารถเข้ารับบริการตามสิทธิที่หน่วยบริการประจำโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกัน กทม.ยังได้วางแผนซักซ้อม สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในการบริการวัคซีนดังกล่าวให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ และเครือข่ายภาคประชาชน รวมทั้งอาสาสมัครสาธารณสุข กทม. เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเว้นระยะในการรับบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่และวัคซีนโควิด-19 ตามแนวทางและข้อแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันโรค


ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคไข้หวัดใหญ่กับโรคโควิด-19 เป็นโรคระบบทางเดินหายใจที่มีลักษณะคล้ายกันมาก ไม่สามารถแยกได้ด้วยอาการ อีกทั้งประชาชนกลุ่มเป้าหมายของการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่กับวัคซีนโควิด-19 ยังมีความใกล้เคียงและทับซ้อนกันอยู่ การเข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่โรงพยาบาลจะส่งผลให้ผู้รับวัคซีนได้ตรวจสอบสิทธิในการรับวัคซีนโควิด-19 ด้วย ดังนั้น สำนักการแพทย์ กทม.จึงมีบริการตรวจคัดกรองเบื้องต้น เพื่อแยกประเภทของกลุ่มโรคตามอาการและเตรียมพร้อมระบบเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ตามมาตรการป้องกันและควบคุมอย่างต่อเนื่อง โดยประชาชนสามารถรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ที่โรงพยาบาลในสังกัด กทม. และศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทั้ง 69 แห่ง รวมทั้งโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดความรุนแรงจากการเจ็บป่วยของโรค ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากวัคซีนโควิด-19 เป็นวัคซีนที่ผลิตมาไม่นานและยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการให้วัคซีนนี้ควบคู่กับวัคซีนอื่น ดังนั้น เมื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่แล้ว ขอให้เลี่ยงการรับวัคซีนโควิด-19 และวัคซีนชนิดอื่นเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 - 4 สัปดาห์ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดปฏิกิริยาจากการฉีดวัคซีนพร้อมกันและการรบกวนการสร้างภูมิคุ้มกัน


อย่างไรก็ตามแนวทางการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และโรคโควิด-19 ที่ดีที่สุดในขณะนี้คือ การดูแลรักษาตัวเองให้แข็งแรง ด้วยการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หมั่นออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้ง เมื่อออกจากบ้านต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า ล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำหรือสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ และเว้นระยะห่างจากผู้อื่น ซึ่งหากปฏิบัติได้ครบจะช่วยป้องกันทุกคนให้ปลอดภัยจากโรคไข้หวัดใหญ่และโควิด-19ได้

7 กลุ่มเสี่ยงเตรียมตัวฉีด วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เริ่มวันไหนเช็กที่นี่!

7 กลุ่มเสี่ยงเตรียมตัวฉีด วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เริ่มวันไหนเช็กที่นี่!

7 กลุ่มเสี่ยงเตรียมตัวฉีด วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เริ่มวันไหนเช็กที่นี่!


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง