TNN online อาการ "ใจสั่น" หรือใจหวิว สัญญาณเตือน คุณอาจกำลังละเลยหัวใจ

TNN ONLINE

สังคม

อาการ "ใจสั่น" หรือใจหวิว สัญญาณเตือน คุณอาจกำลังละเลยหัวใจ

อาการ ใจสั่น หรือใจหวิว สัญญาณเตือน คุณอาจกำลังละเลยหัวใจ

เคยไหม? ใจสั่น ใจหวิว เหมือนหัวใจเต้นผิดจังหวะ เบาไป แรงไป เป็นเรื่องธรรมดาหรือโรคหัวใจถามหา?

เคยไหม? ใจสั่น ใจหวิว เหมือนหัวใจเต้นผิดจังหวะ เบาไป แรงไป เป็นเรื่องธรรมดาหรือโรคหัวใจถามหา?

"ใจสั่น" หรือ "ใจหวิว" เป็นอาการที่หัวใจเกิดการเต้นผิดจังหวะ อาจเต้นเบาเกินไป หรือแรงเกินไป เต้นไม่สม่ำเสมอ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยปกติแล้วเรามักไม่รู้สึกถึงการเต้นของหัวใจ 

แต่ในบางครั้งที่หัวใจเต้นแรงหรือเร็วมาก อาจทำให้เกิดอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หอบเหนื่อย หรือเวียนศีรษะจนอาจส่งผลให้เกิดการหน้ามืดหรือหมดสติและอาจรุนแรงจนมีผลต่อความดันโลหิตได้

"อาการใจสั่น" นั้น อาจสร้างความรบกวน แต่โดยทั่วไปอาการใจสั่นมักจะไม่รุนแรงถึงขั้นเป็นอันตรายและมักหายเองได้เป็นปกติ โดยเฉพาะในกลุ่มที่สัมพันธ์กับภาวะบางอย่าง เช่น เครียดหรือวิตกกังวล หรือได้รับสารกระตุ้นบางชนิดเช่นคาเฟอีน นิโคติน แอลกอฮอร์ หรือแม้แต่ในคนที่กำลังตั้งครรภ์


อาการ "ใจสั่น" เป็นอย่างไร


1. ใจเต้นสะดุด เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด เป็นภาวะที่หัวใจห้องซ้ายล่างเต้นแทรกมาเป็นระยะๆ (Premature Ventricular Contraction) ส่วนใหญ่จะไม่เป็นอันตราย มักเกิดเวลาที่อยู่นิ่งๆ 

2. ใจเต้นเร็วติดต่อตลอดเวลาอย่างสม่ำเสมอ คล้ายเวลาที่ออกกำลังกายหนัก หรือเหนื่อยมากๆ ถ้าอยู่เฉยๆ แล้วมีอาการใจสั่น ก็จะถือว่าเป็นความผิดปกติ ถ้ามีอาการควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

3. ใจเต้นไม่เป็นจังหวะ เรียกว่า “แบบสั่นพลิ้ว” ช่วงที่มีอาการจะมีปัสสาวะบ่อย มักจะเป็นใจสั่นชนิด AF (Atrial Fibrillation) ต้องรีบไปพบแพทย์ด่วน ก่อนจะเกิดหัวใจล้มเหลวหรืออัมพฤกษ์อัมพาตได้

4. ใจเต้นช้ามาก และมีอาการหน้ามืดเป็นลมจะพบในคนปกติ ที่มีอาการตกใจ หรือมีอาการเจ็บปวดที่รุนแรง เช่น ปวดแผล เป็นต้น นอกจากนั้นยังพบในผู้สูงวัย มักจะเกิดจากความเสื่อมของตัวกำหนดจังหวะการเต้นของหัวใจ ควรจะพบแพทย์โดยด่วน เพื่อพิจารณาการรักษาต่อไป

อาการ ใจสั่น หรือใจหวิว สัญญาณเตือน คุณอาจกำลังละเลยหัวใจ

ภาพโดย Freepik


สาเหตุ "ใจสั่น" ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของ "หัวใจ"


- อารมณ์ที่มีความรุนแรงมาก เช่น วิตกกังวล หวาดกลัว เคร่งเครียด เป็นต้น

- การออกกำลังกายหรือใช้กำลังในการทำกิจกรรมมากกว่าปกติ

- สารที่มีฤทธิ์กระตุ้นการเต้นของหัวใจบางอย่าง เช่น คาเฟอีน นิโคติน แอลกอฮอล์ หรือสารเสพติดบางประเภทเช่น โคเคนหรือแอมเฟตามีน เป็นต้น

- โรคหรือภาวะความเจ็บป่วยบางชนิด เช่น โรคไทรอยด์เป็นพิษ ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติ ภาวะโลหิตจาง ความดันโลหิตต่ำ มีไข้และขาดสารน้ำในร่างกาย

- ความแปรปรวนของระดับฮอร์โมนในบางสภาวะเช่น ในขณะตั้งครรภ์ ขณะกำลังมีประจำเดือน หรือวัยใกล้หมดประจำเดือน เป็นต้น

- ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยาลดน้ำมูก ยาพ่นหรือยารับประทานเพื่อขยายหลอดลม ยาลดความอ้วน เป็นต้น

- พืชสมุนไพรและวิตามินบำรุงบางอย่าง

- ระดับเกลือแร่บางชนิดในร่างกายมีความผิดปกติ


"ใจสั่น" แบบไหน "อันตราย"


อาการใจสั่นโดยทั่วไปมักไม่อันตราย ยกเว้นกรณีที่อาจเกิดจากความผิดปกติหรือโรคทางหัวใจ ซึ่งลักษณะอาการใจสั่นที่อาจเกิดจากความผิดปกติของการเต้นของหัวใจ หรือ โรคหัวใจ ได้แก่

- อาการใจสั่น ที่เกิดร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น หน้ามืด เป็นลมหมดสติ เจ็บแน่นหน้าอก หรือเหนื่อยหอบกว่าปกติ

- อาการใจสั่น ที่เกิดขึ้นทันทีทันใด โดยไม่มีสาเหตุหรือปัจจัยกระตุ้นที่สามารถอธิบายได้

- อาการใจสั่น ที่มีจังหวะการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอ

- อาการใจสั่น ในผู้ป่วยที่ทราบว่าเป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว เช่น ผู้ป่วยที่เคยมีกล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจล้มเหลว หัวใจผิดปกติแต่กำเนิด หรือแม้แต่มีโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะอยู่ก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม

- อาการใจสั่น ในผู้ป่วยที่มีประวัติญาติในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ โดยเฉพาะเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตอย่างกะทันหันเมื่ออายุยังน้อย เป็นต้น


อาการ ใจสั่น หรือใจหวิว สัญญาณเตือน คุณอาจกำลังละเลยหัวใจ ภาพโดย Freepik


ดูแลหัวใจดีๆ หากไม่อยาก "ใจสั่น"


แม้ว่าอาการใจสั่นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งก็มีทั้งที่ป้องกันไม่ได้ เช่น การป้องกันไม่ให้หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหัวใจพิการแต่กำเนิด และป้องกันได้ ก็สามารถหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่เป็นสาเหตุให้ใจสั่น เช่น

- หลีกเลี่ยงความเครียดหรือความกังวล โดยวิธีผ่อนคลายต่างๆ เช่น บำบัดด้วยกลิ่น เล่นโยคะ ฝึกหายใจเข้าลึกๆ หรือใช้ยารักษา

- หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ได้แก่ กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มชูกำลัง บุหรี่ หรือยาแก้หวัดบางชนิด

- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

- รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง

- พยายามควบคุมระดับความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลให้เป็นปกติ

- เลี่ยงการใช้ยารักษาโรคที่มีอาการข้างเคียงทำให้ใจสั่น โดยปรึกษาแพทย์ใช้ยาชนิดอื่นทดแทน

- หมั่นสังเกตตัวเองว่ารับประทานอาหารชนิดใดแล้วทำให้เกิดอาการก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้น

- หลีกเลี่ยงยาเสพติดให้โทษ เช่น โคเคนและแอมเฟตามีน


คำแนะนำจากแพทย์โรคหัวใจ


หากรู้สึกมีอาการของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบ่อยๆ สิ่งแรกที่เราสามารถทำได้เลย คือ การจับชีพจร เพื่อวัดการเต้นของหัวใจ คือ

1.ใช้สองนิ้วคลำบริเวณข้อมือจะรู้สึกถึงชีพจรที่เต้นมีลักษณะตุ้บๆ เหมือนเลือดฉูบฉีด แตะค้างไว้ 15 วินาที และนับจังหวะการเต้นของหัวใจ นับจังหวะการเต้นในช่วง 15 วินาที มาคูณด้วย 4 ก็จะบอกได้ว่าใน 1 นาที ชีพจรเต้นเท่าไร ถ้ามีอัตราการเต้นอยู่ที่ 60-100 ครั้ง ถือว่าปกติ

2.การใช้เครื่องวัดความดัน เพราะในบางเครื่องสามารถวัดชีพจรได้เช่นกัน

นอกจากนี้ สิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยไม่มั่นใจกับภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ คือ อาการที่แสดงออกมาไม่สม่ำเสมอ อย่างเช่นเมื่อเกิดอาการแล้วมาพบแพทย์ก็มักจะหายเป็นปกติก่อนตรวจวินิจฉัยโรค

ดังนั้น คำแนะนำจากแพทย์ นั่นก็คือ หากรู้ตัวว่าภายใน 1 สัปดาห์ มีอาการมากกว่า 2-3 ครั้ง ควรบันทึกอาการเบื้องต้นก่อนว่าเป็นอย่างไร เวลากี่โมง หลังจากนั้นจึงเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป


ขอบคุณข้อมูลจาก 

healthsmile.co.th

sukumvithospital.com

pobpad.com


ภาพปกโดย jcomp on Freepik

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง