5 เคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ เตือนภัยมิจฉาชีพหลอกตีสนิท ก่อนข่มขู่ให้โอนเงิน
เปิด 5 เคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ เตือนภัยมิจฉาชีพหลอกพูดคุยกันจนสนิทใจก่อนข่มขู่ให้โอนเงินให้ หลอกเป็นธนาคารปล่อยสินเชื่อกู้ยืมเงิน
นางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 18 - 21 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส ประกอบด้วย
คดีที่ 1 หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หรือวัตถุประสงค์อื่น ๆ มูลค่าความเสียหาย 1,000,000 บาท ผู้เสียหายได้รู้จักกับมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Facebook ได้พูดคุยกันจนสนิทใจ และได้เพิ่มเพื่อนทาง Line ต่อมาภายหลังมิจฉาชีพข่มขู่ผู้เสียหายให้โอนเงินให้ หากไม่โอนจะโพสต์รูปภาพและคลิปของผู้เสียหายที่ได้บันทึกไว้ลงบนสื่อสังคมออนไลน์ ผู้เสียหายกลัว และอยากให้เรื่องยุติ จึงโอนเงินไปแต่มิจฉาชีพให้โอนเงินเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 2 หลอกลวงให้กู้เงิน มูลค่าความเสียหาย 224,601 บาท โดยผู้เสียหายพบเห็นโฆษณาสินเชื่อเงินสด ผ่านช่องทาง Tiktok โลโก้ธนาคารทหารไทย ธนชาต (บัญชีปลอม) จึงสนใจทักไปสอบถามพูดคุย มิจฉาชีพให้เพิ่มเพื่อนทาง Line และส่งลิงก์มาให้กรอกข้อมูลส่วนตัวเพื่อขออนุมัติสินเชื่อ ต่อมาแจ้งว่าผู้เสียหายได้กรอกเลขที่บัญชีผิด ทำให้ระบบล็อกไว้ไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ ให้โอนเงินไปเพื่อปลดล็อกและแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง ผู้เสียหายได้โอนเงินไปหลายครั้งแต่ไม่สามารถถอนได้ ต่อมาจึงทราบว่าเป็นบัญชีปลอมถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 3 หลอกลวงเป็นบุคคลอื่นเพื่อยืมเงิน มูลค่าความเสียหาย 56,000 บาท ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพทางโทรศัพท์อ้างตนว่าเป็นหลานชาย ได้เปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์ใหม่ ต้องการขอยืมเงิน ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไปช่วยเหลือ ต่อมาภายหลังได้ติดต่อกับหลานชายโดยตรง จึงทราบว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 4 หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 102,988 บาท ทั้งนี้ผู้เสียหายอยากมีรายได้เสริม จึงค้นหางานผ่านช่องทาง Facebook พบโฆษณาอ้างว่า ผลตอบแทนรายได้ดี ไม่ได้เป็นการขายสินค้า จึงสนใจทักไปสอบถามพูดคุย มิจฉาชีพให้เพิ่มเพื่อนทาง Line จากนั้นส่งลิงก์ให้กรอกข้อมูลในการสมัครงานและดึงเข้ากลุ่ม Line มีการสอนงานให้กดถูกใจสินค้าในระบบและจะได้รับคอมมิชชันตอบแทน โดยให้โอนเงินลงทุนในระบบครั้งแรกได้รับผลตอบแทนจริง ต่อมาให้โอนเงินลงทุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีทีมงานคอยแนะนำสมาชิกในกลุ่มให้ทำภารกิจตาม ภายหลังผู้เสียหายต้องการยกเลิก ถอนเงินลงทุนคืน มิจฉาชีพอ้างว่าทำผิดกฎของทางบริษัทจะต้องชำระค่าเสียหาย และดำเนินคดี ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
และคดีที่ 5 หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ที่ไม่มีลักษณะเป็นขบวนการ มูลค่าความเสียหาย 19,530 บาท ผู้เสียหายได้สั่งซื้อสินค้าประเภทตุ๊กตาของเล่น (Art Toys) ผ่านช่องทาง Facebook โดยตกลงซื้อขายโอนเงินชำระเรียบร้อย พร้อมทั้งนัดวันรับสินค้า หลังจากส่งหลักฐาน การโอนเงินเสร็จ ไม่สามารถติดต่อได้อีก ตนเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 1,403,119 บาท
ทั้งนี้ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง วันที่ 19 กรกฎาคม 2567 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงานดังนี้
1.สายโทรเข้า 1441 จำนวน 858,463 สาย / เฉลี่ยต่อวัน 3,277 สาย
2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 238,255 บัญชี / เฉลี่ยต่อวัน 1,083 บัญชี
3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่ (1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 71,423 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 29.98 (2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 56,749 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 23.82 (3) หลอกลวงลงทุน 40,416 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 16.96 (4) หลอกลวงให้กู้เงิน 18,451 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.74 (5) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 17,389 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.30 (และคดีอื่นๆ 33,827 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.20)
จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพได้ใช้วิธีการรูปแบบต่างๆ ทั้งการตีสนิทก่อนข่มขู่ให้โอนเงิน หลอกเป็นธนาคารปล่อยสินเชื่อกู้ยืมเงิน ก่อนอ้างให้โอนเงินปลดล็อกระบบ หรือหลอกว่าเป็นญาติขอยืมเงิน รวมทั้งหลอกทำงานหารายได้พิเศษ และหลอกลวงซื้อขายสินค้า โดยส่วนใหญ่จะใช้การติดต่อผ่านโซเชียล สื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นช่องทางที่เข้าถึงง่าย ทั้ง Facebook และ Line เป็นหลัก
ดังนั้นจึงขอเตือนประชาชน ควรตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดของตัวบุคคลที่ติดต่อด้วยทางแพลตฟอร์มนั้นๆ โดยหากไม่แน่ใจสามารถขอให้ชะลอการติดต่อหรือทำธุรกรรม ร่วมกันก่อน และไม่ควรด่วนตัดสินใจโอนเงินซื้อสินค้า หรือทำธุรกรรมใดๆ โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ผ่านโทรสายด่วน GCC 1111 หรือสอบถามข้อมูลกับทางธนาคารโดยตรง ก่อนตัดสินใจทำธุรกรรม
อย่างไรก็ตาม ดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี AOC 1441
ภาพจาก AFP