ผู้เชี่ยวชาญเผย ‘เอลนีโญ’ กระตุ้นสถานการณ์ ฝุ่น PM 2.5 รุนแรงขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญเปิดเผยว่า ‘เอลนีโญ’ กระตุ้นสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ให้รุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบหลายมิติทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจ
วันนี้ (13 พ.ย. 66)รศ.วิษณุ อรรถวานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร ถึงสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ว่าขณะนี้ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เริ่มมีการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ทำให้เริ่มพบจุดความร้อน ที่เกี่ยวข้องกับการเผาเพิ่มขึ้นด้วยและหากดูจากทิศทางลม ลมได้พัดพาฝุ่นละอองขนาดเล็กเหล่านี้จากนอกพื้นที่ เข้ามาสมทบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ก็จะทำให้ในช่วง ธันวาคม และเดือนมกราคม กรุงเทพหมานคร ต้องเผชิญกับสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จากการเผาทั้งในไทย และจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย เช่น ประเทศกัมพูชา ลอยเข้ามา ซึ่งฝุ่นสามารถที่จะลอยข้ามแดนได้ไกล กว่า 100 -1,000 กิโลเมตร
ทั้งนี้เมื่อสถานการณ์เอลนีโญเริ่มเข้ามาแล้ว จะส่งผลให้ ปริมาณฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติทำให้อากาศร้อนและแล้ง ทำให้กิจกรรมการเผาทำได้สะดวกมากยิ่งขึ้น สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จะยิ่งสูงขึ้นอีกในเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยมีอุณหภูมิความร้อนมากที่สุด รวมถึงเข้าสู่หน้าแล้งอย่างเป็นทางการ
หากเตรียมรับมือไม่ดี หรือมาตรการควบคุมการเผายังไม่แตกต่างหรือเข้มงวด มากกว่าปีที่ผ่านมาเชื่อว่า ผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในปีนี้จะรุนแรงมากกว่าเดิม
รศ.วิษณุ อรรถวานิช มองว่านอกจากจะเตือนภัยสถานการณ์ค่าฝุ่นแล้วสิ่งสำคัญ คือ ต้องจัดการกับแหล่งกำเนิดของฝุ่นอย่างจริงจังด้วย ถือเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว ไม่ใช่มองเฉพาะการแก้ปัญหาระยะสั้นเท่านั้น
ที่ผ่านมามีงานศึกษาวิจัยชี้ชัดถ้าฝุ่น PM 2.5 สูงขึ้น ข้อมูลในปี 2562 มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคม สูงถึงร้อยละ 11 ของ GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายอยู่ที่ 2.7 ล้านล้านบาท ซึ่งกระทบทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม.
ภาพจาก : AFP