เตือน กทม.และปริมณฑล ฝุ่น PM 2.5 มีแนวโน้มสูง ช่วง 3-5 พฤศจิกายน 2566
กรมควบคุมมลพิษ เตือนกทม.และปริมณฑล ฝุ่น PM 2.5 มีแนวโน้มสูง 3-5 พฤศจิกายน 2566 แนะประชาชนให้เฝ้าระวังสุขภาพ
กรมควบคุมมลพิษ เตือนกทม.และปริมณฑล ฝุ่น PM 2.5 มีแนวโน้มสูง 3-5 พฤศจิกายน 2566 แนะประชาชนให้เฝ้าระวังสุขภาพ
ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ กรมควบคุมมลพิษ ประกาศฝุ่น PM 2.5 มีแนวโน้มสูง ตั้งแต่วันที่ 3 - 5 พฤศจิกายน 2566 ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม ปทุมธานี และนนทบุรี
ทั้งนี้ เพื่อสุขภาพของประชาชนโปรดงดการเผาในที่โล่งใช้รถเท่าที่จำเป็นเฝ้าระวังรักษาสุขภาพอนามัยและตรวจสอบคุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน
สามารถติดตามสถานการณ์ผ่านทางเว็บไซต์ Air4Thai.com และ airbkk.com แอปพลิเคชัน Air4Thai และ AirBKK
ขณะที่ น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการหารือกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อร่วมมือและกำหนดแนวทางแก้ปัญหา โดยในภาคเกษตรจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งจากการหารือได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายหลักแบบมุ่งเป้า ได้แก่ 10 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่เกษตรที่ไฟใหม้ซ้ำซาก จะลดป่าเผาไหม้ และพื้นที่เกษตรเผาไหม้ลงร้อยละ 50 พื้นที่ ส่วนเป้าหมายรองเป็นพื้นที่อื่น ๆ ที่ต้องลดการเผาไหม้ และควบคุม
น.ส.เกณิกา กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้กำหนดแนวทางบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่เกษตร จัดทำข้อมูลเกษตรกรและจำนวนพื้นที่ กำหนดเงื่อนไขการเผา และประกาศให้รับรู้ ใช้ระบบ Burn Check ประมวลผล พร้อมทั้งส่งเสริมเกษตรปลอดการเผา โดยเฉพาะในพื้นที่ไร่อ้อย และพื้นที่นาข้าว การบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้การเกษตร ในพื้นที่เกษตรรอบโรงไฟฟ้า ชีวมวลในรัศมี 50 กิโลเมตร การแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม
น.ส.เกณิกา กล่าวต่อว่า พล.ต.อ.พัชรวาท เข้าใจเกษตรกร หากจำเป็นต้องเผา ให้ขออนุญาตฝ่ายปกครอง (อปท.) ก่อน ฝ่ายปกครองหรืออปท. อนุญาตเผาตามหลักเกณฑ์ที่ตกลงกัน และกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ประมวลผล ผ่านระบบ Burn Check จัดตั้งชุดปฏิบัติการประจำพื้นที่ (ระดับอำเภอ) เฝ้าระวัง ออกตรวจป้องปราม ระงับ ยับยั้ง แจ้งเหตุ และระดมสรรพกำลัง เฝ้าระวัง ป้องกันการลักลอบเผา
พร้อมกันนี้จะให้มีการนำระบบการรับรองผลผลิตทางเกษตรแบบไม่เผา (GAP PM2s Free) มาใช้เป็นเครื่องมือปรับเปลี่ยนระบบการปลูกพืช และการเปลี่ยนพืชที่มีการเผาให้ปลอดการเผา ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่สูงอ้อย ข้าว กำหนดเงื่อนไขเรื่องการห้ามเผากับมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ ของภาครัฐ
ส่วนของการแก้ปัญหาฝุ่น PM.2.5 ที่กลับมาอีกครั้ง หลังจากที่ฤดูฝนกำลังจะหมดไป โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งมีปัญหารุนแรงด้านมลพิษฝุ่นมาโดยตลอด ค่าฝุ่น PM.2.5 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ
ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เตรียมความพร้อมปฏิบัติการเชิงรุก มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศทั่วประเทศ และมีระบบแจ้งเตือนข้อมูลไปยังประชาชน โดยนับจากวันนี้ไปศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการให้ข้อมูลสถานการณ์ฝุ่นแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลจาก รัฐบาลไทย / ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ
ภาพจาก TNN ONLINE