"เบี้ยผู้สูงอายุ" กรมกิจการผู้สูงอายุชี้แจงล่าสุด! เช็กหลักเกณฑ์เก่า-ใหม่ ที่นี่
กรมกิจการผู้สูงอายุยังคงยืนยัน "ผู้สูงอายุ" ที่เคยได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอยู่แล้วยังคงได้รับตามเดิม เช็กหลักเกณฑ์เก่า-ใหม่ ได้ที่นี่
กรมกิจการผู้สูงอายุยังคงยืนยัน "ผู้สูงอายุ" ที่เคยได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอยู่แล้วยังคงได้รับตามเดิม เช็กหลักเกณฑ์เก่า-ใหม่ ได้ที่นี่
จากกรณีที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ถึงระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของอกกรปกครองส่วนท้องถิ่นพ.ศ 2566 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 12 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยได้มีการปรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในฉบับเดิม
ล่าสุดทีมข่าว TNN ช่อง 16 ได้สอบถามไปยัง นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ ระบุว่า ในส่วนการแก้ระเบียบใหม่นั้น ต้องให้ทางกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ออกมาชี้แจง แต่ยืนยันว่า ผู้สูงอายุรายเดิมที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอยู่แล้ว จะได้รับเหมือนเดิม ไม่มีการตัดสิทธิ์ ซึ่งขณะนี้ในปี 2566 มีผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่ได้รับเบี้ยผู้สูงอายุรวมอยู่ประมาณ 11 ล้านกว่าคน ยังคงจ่ายตามหลักเกณฑ์
-ผู้สูงอายุ อายุ 60-69 ปี จะได้รับ 600 บาท
-ผู้สูงอายุ อายุ 70-79 ปี จะได้รับ 700 บาท
-ผู้สูงอายุ อายุ 80-89 ปี จะได้รับ 800 บาท
-ผู้สูงอายุ อายุ 90 ปีขึ้นไป จะได้รับ 1,000 บาท
สำหรับหลักเกณฑ์ใหม่
-สัญชาติไทย
-มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
-มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งได้ยืนยันสิทธิขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
-เป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสำคัญที่ระบุในบทเฉพาะกาลของระเบียบฯใหม่นี้
ข้อ 17 บรรดาผู้สูงอายุที่ได้ขึ้นทะเบียนและรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อยู่ก่อนวันที่ระเบียบนี้บังคับใช้ ให้ยังมีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นต่อไป
ข้อ 18 ในระหว่างที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุยังมิได้ มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามข้อ 6 (4) ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้คุณสมบัติผู้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตาม
ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติมไปก่อน.
ซึ่งทางกรมกิจการผู้สูงอายุ คงต้องเข้าหารือกับกระทรวงมหาดไทย ถึงกรณีที่ในระเบียบใหม่ในบทเฉพาะกาลได้ให้ คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ กำหนดรายได้ก่อน ในส่วนนี้ต้องดูว่าจะทำอย่างไร และได้แค่ไหน อย่างไรก็ตาม ยืนยัน จะยึดประโยชน์ของผู้สูงอายุเป็นหลัก
สำหรับปัจจุบัน ผู้สูงอายุรายใหม่ ไปลงทะเบียนไว้เหมือนหลักเกณฑ์เดิม ส่วนการพิสูจน์คุณสมบัติต่างๆยังคงใช้เหมือนเดิมอยู่ เนื่องจากยังคงต้องรอสำนักงานคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติประชุม เป็นผู้กำหนดในส่วนของรายได้ก่อน
หลักเกณฑ์เดิม
-เป็นผู้สูงอายุที่มีสัญชาติไทย
-มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามทะเบียนบ้าน
-มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งได้ลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้
-ไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ผู้รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน แต่ไม่รวมถึงผู้พิการหรือผู้ป่วยเอดส์ -หรือผู้ได้รับสวัสดิการอื่นตามมติ คณะรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ในส่วนของกรมกิจการผู้สูงอายุของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดูแลในผู้สูงอายุ 3 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ยังอายุไม่ถึง 60 ปี ในการเตรียมความพร้อม ก่อนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เรื่องสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ การเตรียมสภาพแวดล้อม
กลุ่มที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่ยังมีพลัง มีแรง จะมีเรื่องของกิจกรรม สร้างพลังในผู้สูงอายุ เช่นโรงเรียนผู้สูงอายุ ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ และสมาคมชมรมผู้สูงอายุต่างๆ ทักษะด้านการประกอบอาชีพ กองทุนผู้สูงอายุ
กลุ่มผู้สูงอายุเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงถูกทิ้งในชุมชน ในส่วนนี้จะมีนักสังคมสงเคราะห์เข้าไปทำงานในพื้นที่ดูแลผู้สูงอายุ ใช้กลไกครอบครัวเข้ามาดูแลร่วมด้วยรวมถึงสนับสนุนเงิน หรือทำผู้สูงอายุเข้าไปดูแลในสถานสงเคราะห์
แฟ้มภาพ TNN Online