แนะวิธีเลือกซื้อ-ใช้งาน "พาวเวอร์แบงค์" หากจะทิ้งของเก่าควรทำอย่างไร?
อาจารย์เจษฎ์ แนะวิธีการเลือกซื้อ-ใช้งาน "พาวเวอร์แบงค์" ให้ปลอดภัย และ หากจะทิ้งของเก่าต้องทำอย่างไร วิธีสังเกตแบตเสื่อม
อาจารย์เจษฎ์ แนะวิธีการเลือกซื้อ-ใช้งาน "พาวเวอร์แบงค์" ให้ปลอดภัย และ หากจะทิ้งของเก่าต้องทำอย่างไร วิธีสังเกตแบตเสื่อม
พาวเวอร์แบงค์ (Power Bank) ถือว่าเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความสำคัญกับใครหลายคนเป็นอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันประชาชนผูกติดกับโซเชียลและเทคโนโลยีมากมาย จึงเป็นอีกหนึ่งไอเทมที่ใครหลายคนพกพาอยู่เสมอ
โดย เพจ “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์” หรือ ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แนะนำหลักการเลือกซื้อและใช้งานพาวเวอร์ ให้มั่นใจว่าปลอดภัย มาให้อ่านกัน หลังจากมีเคสเหตุการณ์ "พาวเวอร์แบงค์ระเบิด" อยู่เรื่อยๆ
หลักการเลือกซื้อและใช้งานพาวเวอร์แบงค์
1. เลือกซื้อเลือกใช้พาวเวอร์แบงค์ เฉพาะที่ผลิตโดยผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน มีตราสัญลักษณ์รับรองมาตรฐานการผลิต และผ่านการทดสอบความปลอดภัย
2. หลีกเลี่ยงพาวเวอร์แบงค์ ราคาถูก แต่ว่ามีความจุที่สูง เพราะมีโอกาสที่เป็นสินค้าที่มาตรฐานการผลิตต่ำ อาจจะถึงขั้นไม่มีระบบตัดไฟลัดวงจรที่ปลอดภัย
3. ขณะที่นำสมาร์ทโฟนมาเสียบพาวเวอร์แบงค์เพื่อชาร์จไฟ ไม่ควรเล่นหรือใช้งานระหว่างที่ชาร์จ เพราะอาจจะทำให้เกิดความผิดพลาดในการจ่ายกระแสไฟฟ้า จนอาจจะทำให้เกิดการลัดวงจรได้
4. เมื่อเสียบชาร์จไฟเพื่อเก็บกระแสไฟฟ้าไว้ในพาวเวอร์แบงค์ เมื่อชาร์จจนเต็มแล้วให้ถอดสายออก ไม่ควรเสียบชาร์จคาทิ้งไว้ เพราะอาจจะเกิดความร้อนและการลัดวงจรได้
5. ไม่ควรเสียบชาร์จไฟพาวเวอร์แบงค์ไว้ ในขณะที่ไม่มีใครอยู่บ้าน
6. ไม่ควรใช้พาวเวอร์แบงค์ที่หมดอายุการใช้งาน หรือเสียหาย หรือบวมเสื่อมสภาพ ไม่ควรใช้งานพาวเวอร์แบงค์ที่มีอายุเกิน 2 ปี ควรเปลี่ยนใหม่ อย่าฝืนใช้ต่อเมื่อหมดอายุแล้ว
7. ไม่ควรเก็บพาวเวอร์แบงค์ในที่มีความร้อน เช่น หลังทีวี, ตู้เย็น, ไมโครเวฟ หรือที่แสงแดดส่องถึง รวมทั้งไม่ควรทิ้งไว้ในรถยนต์ที่จอดตากแดด
สาเหตุที่พาวเวอร์แบงค์ หรือ พวกแบตเตอรีสำรอง เกิดระเบิดลุกไหม้ไฟได้ ไม่เหมือนกับพวกถ่านไฟฉาย ถ่านอัลคาไลน์ที่คุ้นเคยกันมานานนั้น ก็เพราะมันมักจะเป็นแบตเตอรี่พวกลิเธียมไอออน (lithuim ion) ที่มีน้ำหนักเบา และมีความหนาแน่นของความจุไฟฟ้าสูง แต่ก็ต้องระวังอันตรายอันอาจเกิดขึ้นได้ ถ้าลิเธียมสัมผัสกับอากาศที่มีก๊าซออกซิเจน และทําให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน เกิดความร้อนสูง และเกิดการระเบิดรุนแรงได้ โดยปรกติแบตเตอรี่แบบลิเธียมไออนจึงต้องมีเปลือกแบตเตอรี่และวัสดุห่อหุ้มเซลไฟฟ้าด้านใน ไม่ให้โมเลกุลของก๊าซออกซิเจนสัมผัสกับอะตอมของลิเธียม
แต่ถ้าแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนนั้น มีการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ทั้งในส่วนของวัสดุที่ใช้ห่อหุ้ม และในส่วนของวงจรไฟฟ้าสำหรับการจ่ายไฟและการชาร์จไฟ รวมไปถึงการเสื่อมประสิทธิภาพตามการเวลา หรือถูกกระแทกจนเกิดความเสียหาย หรือจัดเก็บในที่ๆ ไม่เหมาะสม เช่น มีความร้อนสูง ก็อาจจะนำมาสู่อุบัติเหตุ มีไฟฟ้าลัดวงจรในแบตเตอรี่ เกิดอุณหภูมิที่สูงขึ้น เกิดความเสียหายกับเปลือกหุ้มเซลแบตเตอรี่จนอากาศเข้าไปข้างในและเจอกับโลหะลิเธียม สุดท้าย ก็อาจระเบิดขึ้นได้
แบตบวม อาการสำคัญของแบตเสื่อม สังเกตอย่างไร
หากแบตเริ่มมีอาการบวมเล็กน้อย นี่เป็นสัญญาณว่า แบตสำรองเริ่มเสื่อมแล้ว และที่สำคัญที่สุดอย่าปล่อยให้แบตเตอรี่บวมมาก เพราะหากปล่อยไว้ แบตเตอรี่ของเราอาจจะเกิดการระเบิด และทำให้อุปกรณ์อื่นๆเสียหาย หรือร้ายกว่านั้น อาจทำให้ผู้ใช้เกิดอาการบาดเจ็บได้
จะทิ้ง พาวเวอร์แบงค์ เก่าอย่างไร
-นำไปแช่น้ำทิ้งไว้ เพื่อทำการลดประจุไฟฟ้า โดยระยะเวลาที่แช่อยู่ในน้ำอาจเป็นระยะเวลา 5 ชั่วโมง
-ใส่ถุงขยะ พร้อมกับระบุประเภทของขยะ
-ทิ้งที่จุดทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์
ทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ไว้ ให้ไปรษณีย์ไทย
ปัจจุบัน บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) มีบริการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ ผ่าน 2 ขั้นตอนง่ายๆ “ฝากทิ้ง ขยะอิเล็กทรอนิกส์” กับบุรุษไปรษณีย์
1.เตรียม E-Waste ทั้ง 5 ประเภท ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ/แท็บเล็ต, สายชาร์จ, หูฟัง, พาวเวอร์แบงก์ และแบตเตอรี่มือถือ ให้พร้อม และนำใส่กล่อง พร้อมเขียนหน้ากล่อง “ฝากทิ้ง ขยะอิเล็กทรอนิกส์”
2.ฝากทิ้ง กับบุรุษไปรษณีย์ ที่มาส่งจดหมาย หรือพัสดุ ที่บ้านได้เลย โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ขอบคุณข้อมูลจาก : อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ / https://powerbank-perfect.com/
ภาพจาก TNN Online