TNN online ตรวจสอบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ล่าสุดยืนยันตัวตนสำเร็จแล้วกว่า 12 ล้านราย!

TNN ONLINE

สังคม

ตรวจสอบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ล่าสุดยืนยันตัวตนสำเร็จแล้วกว่า 12 ล้านราย!

ตรวจสอบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ล่าสุดยืนยันตัวตนสำเร็จแล้วกว่า 12 ล้านราย!

ตรวจสอบสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน ล่าสุดยืนยันตัวตนสำเร็จแล้วกว่า 12 ล้านราย ยื่นอุทธรณ์ 1,152,829 ราย

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยความคืบหน้าการยืนยันตัวตนของผู้ที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติ (ผู้ผ่านเกณฑ์) ตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2565 (โครงการฯ) ณ วันที่ 23 มีนาคม 2566 เวลา 13.00 น. มีผู้ผ่านเกณฑ์ที่ยืนยันตัวตนสำเร็จ จำนวนทั้งสิ้น 12,001,438 ราย (หรือคิดเป็นร้อยละ 82.22 ของจำนวนผู้ผ่านเกณฑ์ทั้งหมดจำนวน 14,596,820 ราย) สำหรับจำนวนผู้ยื่นอุทธรณ์ผลการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติตามโครงการฯ ณ วันที่ 23 มีนาคม 2566 เวลา 13.00 น. มีจำนวนทั้งสิ้น 1,152,829 ราย


ผู้ผ่านเกณฑ์จะต้องดำเนินการยืนยันตัวตนและผลการยืนยันตัวตนต้องแสดงสถานะว่า “ผ่านการยืนยันตัวตน (e-KYC)” ภายในวันที่ 26 มีนาคม 2566 เพื่อให้สามารถใช้สิทธิสวัสดิการผ่านบัตรประจำตัวประชาชนได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 


ทั้งนี้ ในการยืนยันตัวตน ผู้ผ่านเกณฑ์จะต้องใช้บัตรประจำตัวประชาชนอเนกประสงค์ (Smart Card) และต้องผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชนกับธนาคารใดก็ได้ เนื่องจากการผูกบัญชีพร้อมเพย์ไว้ล่วงหน้าจะทำให้ผู้ได้รับสิทธิโครงการฯ สะดวกในการรับสิทธิสวัสดิการ หากภาครัฐมีการให้สวัสดิการเป็นเงินโอนเข้าบัญชีในอนาคต โดยในเดือนมีนาคม 2566 ผู้ผ่านเกณฑ์สามารถยืนยันตัวตนได้ที่ธนาคารกรุงไทยฯ ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ได้ทุกวัน รวมวันเสาร์ - อาทิตย์ โดยสาขาทั่วไปตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น. และสาขาในห้างสรรพสินค้าตั้งแต่เวลา 11.00 – 16.00 น

ตรวจสอบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ล่าสุดยืนยันตัวตนสำเร็จแล้วกว่า 12 ล้านราย!


ผู้ผ่านเกณฑ์ที่ไม่ได้ดำเนินการยืนยันตัวตนภายในวันที่ 26 มีนาคม 2566 ยังคงสามารถยืนยันตัวตนได้ ที่ธนาคารทั้งสามแห่งข้างต้นตามวันเวลาที่หน่วยงานกำหนด แต่จะสามารถเริ่มใช้สิทธิสวัสดิการแห่งรัฐได้ ตามวันที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยรายละเอียดช่วงเวลาการยืนยันตัวตนและวันที่เริ่มใช้สิทธิ ปรากฏตามตาราง

ตรวจสอบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ล่าสุดยืนยันตัวตนสำเร็จแล้วกว่า 12 ล้านราย!


สำหรับผู้ลงทะเบียนที่ไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติ (ผู้ไม่ผ่านเกณฑ์) สามารถขออุทธรณ์ได้ตั้งแต่ วันที่ 1 มีนาคม - 1 พฤษภาคม 2566 (62 วัน) โดยดำเนินการผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่ ขออุทธรณ์ด้วยตนเองผ่านทางเว็บไซต์ https://บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือ https://welfare.mof.go.th ได้ตั้งแต่เวลา 06.00 น. ถึง 23.00 น. ของทุกวัน หรือขออุทธรณ์ผลการพิจารณาคุณสมบัติผ่านหน่วยงานรับลงทะเบียนทั้ง 7 หน่วยงาน ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทยฯ ธ.ก.ส. สำนักงานคลังจังหวัดทุกจังหวัด ที่ว่าการอำเภอทุกอำเภอ สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร หรือศาลาว่าการเมืองพัทยา ตามวันและเวลาทำการของแต่ละหน่วยงาน โดยให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานรับลงทะเบียนเป็นผู้ดำเนินการยื่นอุทธรณ์ผลการพิจารณาคุณสมบัติซึ่งผู้ไม่ผ่านเกณฑ์จะต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานรับลงทะเบียนก่อนดำเนินการยื่นอุทธรณ์


สำหรับผู้ไม่ผ่านเกณฑ์ที่ได้ทำการยื่นอุทธรณ์ตามขั้นตอนเรียบร้อยแล้ว จะต้องดำเนินการขอตรวจสอบและ/หรือขอแก้ไขข้อมูล โดยต้องติดต่อที่หน่วยงานตรวจสอบคุณสมบัติที่ผู้ไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาด้วยตนเอง หรือเป็นไปตามเงื่อนไขที่หน่วยงานตรวจสอบคุณสมบัติกำหนด เพื่อขอปรับปรุงหรือแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องซึ่งผู้อุทธรณ์จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2566  โดยกระทรวงการคลังจะประมวลผลการอุทธรณ์อีกครั้งหนึ่ง ก่อนจะประกาศผลการอุทธรณ์ให้ทราบต่อไป 


ช่องทางตรวจสอบสิทธิ


ตรวจสอบสิทธิ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านทางเว็บไซต์ https://บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือ https://welfare.mof.go.th ได้ตั้งแต่เวลา 6.00 น. ถึง 23.00 น. ของทุกวัน 


การยืนยันตัวตน


1. ผู้ลงทะเบียนโครงการฯ ที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติสามารถไปยืนยันตัวตนได้ที่ (1) ธนาคารกรุงไทยฯ (2) ธนาคารออมสิน หรือ (3) ธ.ก.ส. ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป ทั้งนี้ จะต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนอเนกประสงค์ (Smart Card) เพื่อใช้ในการยืนยันตัวตนด้วย ณ ธนาคารดังกล่าวตามวันและเวลาทำการของแต่ละธนาคาร


2. เมื่อยืนยันตัวตนเสร็จเรียบร้อยแล้วจะสามารถตรวจสอบสถานะการยืนยันตัวตนของตนเองผ่านทางเว็บไซต์ https://บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือ https://welfare.mof.go.th ในวันถัดไป หรือติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่หน่วยงานรับลงทะเบียนทั้ง 7 หน่วยงาน หรือโทรศัพท์สอบถามได้ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ผู้ลงทะเบียนโครงการฯ ที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติต้องดำเนินการผูกบัญชีพร้อมเพย์กับหมายเลขประจำตัวประชาชนกับธนาคารใดก็ได้ เนื่องจากการผูกบัญชีพร้อมเพย์ไว้ล่วงหน้าจะทำให้ผู้ได้รับสิทธิโครงการฯ สะดวกในการรับสิทธิสวัสดิการหากกรณีที่ภาครัฐมีสวัสดิการที่จะโอนเข้าบัญชีในอนาคต


3. หากดำเนินการยืนยันตัวตนภายในวันที่ 1 – 26 มีนาคม 2566 และตรวจสอบพบว่า ผ่านการยืนยันตัวตน (e-KYC) จะสามารถใช้สิทธิสวัสดิการผ่านบัตรประจำตัวประชาชนได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 แต่หากผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติยืนยันตัวตนหลังวันที่ 26 มีนาคม 2566 จะได้ใช้สิทธิสวัสดิการแห่งรัฐได้ตามวันที่กระทรวงการคลังกำหนด สำหรับผู้ได้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐปัจจุบันจะสามารถใช้สิทธิสวัสดิการแห่งรัฐผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้จนถึงวันที่ 31มีนาคม 2566 เท่านั้น


กรณีเดินทางมาด้วนตนเอง

- บัตรประจำตัวประชาชน (ผู้ลงทะเบียน)

- ใบสำคัญการหย่า หรือ ใบมรณะ หรือ หนังสือรับรองการตาย หรือ ทะเบียนบ้านที่มี การจำหน่ายการตาย (เฉพาะผู้ผ่านเกณฑ์แบบมีเงื่อนไข)


กรณีมอบอำนาจ

ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง หรือ ผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินทางมายืนยันตัวตนได้เอง สามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมายืนยันตัวตนแทนได้ โดยใช้เอกสารดังนี้

- บัตรประจำตัวประชาชน (ผู้ลงทะเบียน) 

- ใบสำคัญการหย่า หรือ ใบมรณะ หรือ หนังสือรับรองการตาย หรือ ทะเบียนบ้านที่มี การจำหน่ายการตาย (เฉพาะผู้ผ่านเกณฑ์แบบมีเงื่อนไข)

- หนังสือมอบอำนาจ (ดาวโหลดที่เว็บไซต์โครงการฯ) คลิกที่นี่

- บัตรประจำตัวประชาชน (ผู้ได้รับมอบอำนาจ) 

- สำเนาบัตรประจำตัวคนพิการ (ถ้ามี) หรือ ใบรับรองแพทย์ (ถ้ามี) ให้นำมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่หน่วยงานยืนยันตัวตน


กรณี ไม่ผ่าน คุณสมบัติการพิจารณาคุณสมบัติ ให้ทำดังนี้


1. ยื่นอุทธรณ์ โดยสามารถเลือกดำเนินการได้ 2 วิธี คือ

- อุทธรณ์ด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ https://บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือ https://welfare.mof.go.th

- ติดต่อหน่วยงานรับลงทะเบียนเพื่อยื่นอุทธรณ์แทน

2. ติดต่อหน่วยงานตรวจสอบคุณสมบัติที่ไม่ผ่าน เพื่อตรวจสอบ/ขอแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง

หลังจากยื่นอุทธรณ์แล้ว ผู้ไม่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติต้องติดต่อหน่วยงานตรวจสอบคุณสมบัติไม่ผ่าน เพื่อตรวจสอบ/ขอแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2566

อุทธรณ์ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป และต้องแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2566


กรณีมอบอำนาจ (ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินทางมาอุทธรณ์ได้เอง สามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมาลงทะเบียนแทนได้ โดยใช้เอกสารดังนี้)

-บัตรประจำตัวประชาชน (ผู้ลงทะเบียน)

-สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน (ผู้ลงทะเบียน) พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง

-หนังสือมอบอำนาจ (ดาวน์โหลดได้ที่เว็บไวต์โครงการฯ) คลิกที่นี่

-สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน (ผู้ได้รับมอบอำนาจ) พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง

-สำเนาบัตรประจำตัวคนพิการ (ถ้ามี) พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง หรือใบรับรองแพทย์ (ถ้ามี)





ที่มา กระทรวงการคลัง

ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง