TNN online กินเจ 2565 ผัก 5 ชนิดห้ามรับประทานถ้าไม่อยากเจแตกต้องรู้!

TNN ONLINE

สังคม

กินเจ 2565 ผัก 5 ชนิดห้ามรับประทานถ้าไม่อยากเจแตกต้องรู้!

กินเจ 2565 ผัก 5 ชนิดห้ามรับประทานถ้าไม่อยากเจแตกต้องรู้!

กินเจ 2565 ผู้บริโภคควรรู้ผัก 5 ชนิดห้ามรับประทาน ถ้าไม่อยากเจแตกต้องรู้ พร้อมเคล็ดลับกินเจอย่างไรไม่ขาดสารอาหาร


เทศกาลกินเจ 2565 ใกล้เข้ามาถึงแล้ว สำหรับปีนี้จะตรงกับวันที่ 25 กันยายน - 4 ตุลาคม 2565 ตามคติของชาวพุทธเชื่อว่า การกินเจ เป็นการสักการะ พระพุทธเจ้าในอดีต 7 พระองค์ และ พระมหาโพธิสัตว์ อีก 2 พระองค์ รวมทั้งหมด 9 พระองค์ จุดประสงค์ของการกินเจ จะเป็นการงดเว้นอาหารคาว ละเว้นการเอาชีวิตสัตว์ เพื่อมารับประทาน โดยจะทำต่อเนื่องกันทั้งหมด 9 วัน โดยก่อนการกินเจจะมีการล้างท้องก่อน 1 วัน เพื่อเตรียมร่างกาย,จิตใจ และ วาจา ให้บริสุทธิ์สะอาดก่อนเริ่มเทศกาลกินเจ 


อาหารเจคืออะไร?


อาหารเจ  ต้องเป็นอาหารที่ปรุงขึ้นมาจากพืชผักธรรมชาติล้วนๆ ไม่มีเนื้อสัตว์ปะปนและที่สำคัญต้องไม่ปรุงด้วยผักฉุนทั้ง 5 ได้แก่ กระเทียม, หัวหอม, หลักเกียว, กุ้ยฉ่าย, ใบยาสูบ เนื้อสัตว์มีเพียงหอยนางรมชนิดที่ถือว่าเป็นอาหารเจ และสามารถนำซอสหอยนางรมมาปรุงอาหารเจได้ 


ประโยชน์ของการกินเจ


การกินเจ คือการงดรับประทานเนื้อสัตว์ทุกชนิดทำให้กระเพาะได้พักจากการย่อยเนื้อสัตว์ และได้ยังรับวิตามิน และโปรตีนจากถั่วชนิดต่างๆ ซึ่งแตกต่างจากโปรตีนที่เราได้รับจากเนื้อสัตว์ ช่วงเวลานี้จึงถือเป็นช่วงที่ร่างกายได้พักผ่อนจากการรับสารอาหารย่อยยาก อีกทั้งเป็นการละเว้นชีวิตของสัตว์อีกด้วย


กินเจ 2565 ผัก 5 ชนิดห้ามรับประทานถ้าไม่อยากเจแตกต้องรู้!


ผัก 5 ชนิดไม่ถือเป็นอาหารสำหรับเทศกาลกินเจห้ามรับประทาน


1.กระเทียม ( รวมไปถึง หัวกระเทียม ต้นกระเทียม)

2.หัวหอม ( ต้นหอม ใบหอม หอมแดง หอมขาว หอมหัวใหญ่)

3.หลักเกียว (กระเทียมโทนจีน ลักษณะคล้ายหัวกระเทียม แต่มีขนาดเล็กและยาว กว่า )

4. กุ้ยฉ่าย 

5.ใบยาสูบ (บุหรี่ ยาเส้น ถือเป็นของเสพติดมึนเมา)

โดยผักดังกล่าวเหล่านี้ เป็นผักที่มีรสหนัก กลิ่นเหม็นคาวรุนแรงมีฤทธิ์กระตุ้นจิตใจอารมณ์ให้เร่าร้อนใจคอหงุดหงิดง่าย ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่กำลังถือศีลและปฏิบัติธรรม 


กินเจ ควรรับประทานผักอย่างไรให้ได้ประโยชน์-ร่างกายไม่ขาดสารอาหาร 


ผู้กินเจสามารถเลือกกินผัก ผลไม้ เพื่อสร้างภูมิต้านทาน เช่น กล้วยน้ำว้าสุก ธัญพืช มันเทศ ข้าวโพดหวาน หรือสมุนไพรที่ช่วยลดอาการอาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสีย เช่น ขิง ขมิ้นชัน มะระขี้นก และควรเพิ่มการกินผักและผลไม้หลากหลายสีเข้าไปด้วย เช่น พริกหวาน ผักโขม ปวยเล้ง มะระขี้นก ผักหวาน ขี้เหล็ก  มะเขือเปราะ มะนาว ฝรั่ง มะละกอ ส้มโอ ส้มเขียวหวาน เพื่อให้ร่างกายได้รับประโยชน์จากสารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินต่าง ๆ และเส้นใยอาหาร ซึ่งช่วยให้ร่างกายทำงานเป็นปกติและเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค

ผู้ที่กินเจ ควรเลือกซื้อหรือปรุงอาหารเมนูประเภทยำ ต้ม นึ่ง  ลดอาหารประเภทผัด ทอด และกินอาหารที่มีรสชาติปานกลาง ไม่หวาน มัน เค็มจัด เพราะส่วนใหญ่อาหารเจ  มักออกไปทางมัน เลือกกินอาหารเจประเภท ต้ม แกง ย่าง ยำ น้ำพริก กินข้าวแป้งแต่พอดี เลี่ยงอาหารแปรรูป  ซึ่งอาหารเจส่วนใหญ่จะมีแป้งแฝง เช่น การใช้แป้งหมี่กึงมาทำเลียนแบบเนื้อสัตว์ ซึ่งทำให้คาร์โบไฮเดรตเกิน 

อีกทั้งในช่วงกินเจอาจทำให้รู้สึกหิวบ่อย ให้เลือกผลิตภัณฑ์นมจากพืชเสริม โดยเลือกชนิดไม่หวานจัด มีปริมาณโปรตีนและแคลเซียมเหมาะสม งดเครื่องดื่มที่มีรสหวาน น้ำอัดลม หรืออาหารที่มีน้ำตาลสูง ไม่ควรเลือกกินเมนูอาหารชนิดเดิมซ้ำทุกวัน จะทำให้เกิดการสะสมสารพิษ และเกิดโรคได้ 

สิ่งสำคัญหากในช่วงกินเจดื่มน้ำไม่เพียงพอจะทำให้ใยอาหารเกาะตัวในร่างกายมาก อาจทำให้เกิดอาการท้องผูก เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร ไม่สบายท้อง ได้ จึงควรดื่มน้ำให้ได้   6-8 แก้วต่อวัน

ข้อมูลจาก  :  สนามหลวงสหคลีนิค, กรมอนามัย, โรงพยาบาลสมิติเวช

ภาพจาก  :  TNN ONLINE 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง