TNN online มีผลวันนี้! "คาดเข็มขัดนิรภัยเบาะหลัง" ยกเว้น รถประเภทใดบ้าง เช็กที่นี่?

TNN ONLINE

สังคม

มีผลวันนี้! "คาดเข็มขัดนิรภัยเบาะหลัง" ยกเว้น รถประเภทใดบ้าง เช็กที่นี่?

มีผลวันนี้! คาดเข็มขัดนิรภัยเบาะหลัง ยกเว้น รถประเภทใดบ้าง เช็กที่นี่?

มีผลวันนี้ 5 กันยายน 2565 "คาดเข็มขัดนิรภัยเบาะหลัง" ยกเว้น รถประเภทใดบ้าง พร้อมเปิดกฎหมายจราจรอื่นๆ เช็กที่นี่

"คาดเข็มขัดนิรภัยเบาะหลัง" ยกเว้น รถประเภทใดบ้าง



พลตำรวจตรี จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ดูแลงานจราจร เปิดเผยถึง ความคืบหน้ากฎหมายจราจร ที่มีผลบังคับใช้วันที่ 5 กันยายนนี้ 


กรณีคนนั่งเบาะหลัง ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท ว่า พระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ ใหม่ ฉบับใหม่ มีผล 5 กันยายนนี้  เรื่องการคาดเข็มขัดนิรภัย บังคับเฉพาะรถที่นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน โดยผู้โดยสารทั้งแถวตอนหน้า (ผู้ขับขี่) - แถวตอนหลัง(ผู้โดยสาร) ทุกที่นั่งต้องรัดเข็มขัดนิรภัย


กรณีรถยนต์เก่าไม่มีเข็มขัดนิรภัย มีข้อยกเว้น คือ รถยนต์ที่จดทะเบียนก่อนวันที่ 1 มกราคม 2531 ที่ไม่สามารถติดตั้งเข็มขัดนิรภัยได้ หากจดทะเบียนก่อนวันดังกล่าว ไม่ถือมีความผิด รวมถึงรถกระบะที่มีการจดทะเบียนก่อนปี 2537 จะยังไม่มีผลบังคับใช้ ส่วนรถกระบะที่ไม่มีเข็มขัดนิรภัย ก็ต้องมีข้อกำหนดพิจารณาอีกขั้นตอนหนึ่ง ทั้งนี้ นโยบายกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องว่ากล่าวตักเตือนไว้ก่อนเพื่อให้ประชาชนรับทราบ ก่อนบังคับใช้กฎหมายต่อไป


ส่วนของที่นั่งสำหรับเด็ก ที่มีผลในวันที่ 5 กันยายน นั้น ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะมีการประกาศประเภทคาร์ซีทที่นั่งสำหรับเด็ก 3 ประเภทก่อน คือ ที่นั่งสำหรับเด็ก ที่นั่งพิเศษสำหรับเด็ก และที่นั่งเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายสำหรับเด็ก ขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่างกฎหมาย ซึ่งหากมีการพิจารณาได้ทันก็สามารถดำเนินการใช้ได้ภายในวันครบกำหนดที่กฎหมายสามารถบังคับใช้ได้ แต่ถ้าไม่ทันก็สามารถยืดหยุ่นได้ภายใน 90 วัน และจะประกาศบังคับใช้ได้ทันที


ทั้งนี้ ความเข้มงวด เจ้าหน้าที่ตำรวจ จะยังคงว่ากล่าวตักเตือนเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบ ไม่เน้นจับกุม แต่อยู่ที่ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่เป็นรายๆ ไป


ขณะที่  เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พ.ร.บ. จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยมีใจความสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดความปลอดภัยสำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ที่ผู้ปกครองจะต้องจัดให้มีที่นั่งนิรภัย (คาร์ซีท) ตลอดระยะเวลาที่นั่งโดยสาร เพื่อป้องกันอันตรายจากกรณีประสบอุบัติเหตุแล้วนั้น


โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก ลงวันที่ 21 มีนาคม พุทธศักราช 2560 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "มาตรา 123 ภายใต้บังคับมาตรา 123/1 ในขณะขับรถยนต์ผู้ที่อยู่ในรถยนต์ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้


(1) ผู้ขับขี่ ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งตลอดเวลาในขณะขับรถยนต์


(2) คนโดยสาร


(ก) คนโดยสารที่นั่งแถวตอนหน้าและที่นั่งแถวตอนอื่น ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัย ไว้กับที่นั่งตลอดเวลาในขณะโดยสารรถยนต์


(ข) คนโดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้นั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือนั่งในที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย หรือมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ


(ค) คนโดยสารที่มีความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร ต้องรัดร่างกายด้วย เข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่ง หรือมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะนั่งแถวตอนใด



ขณะที่อีกหนึ่งประเด็นที่กำหนดไว้ คือ มาตรา 123 ภายใต้บังคับมาตรา 123/1 ในขณะขับรถยนต์ ผู้ที่อยู่ในรถยนต์ทั้งผู้ขับขี่ และผู้โดยสารที่นั่งแถวตอนหน้าและที่นั่งแถวตอนอื่น จะต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลาที่โดยสารรถยนต์ เว้นแต่มีเหตุผลด้านสุขภาพอันไม่สามารถรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งได้ หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจะต้องถูกระวางโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท


อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในอีก 120 วัน นับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือวันที่ 5 กันยายน 2565



อ่านประกาศฉบับเต็ม ที่นี่



พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร หรือ ศจร.ตร. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงกฎหมายจราจรทางบกฉบับใหม่ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ 5 กันยายน โดยมีข้อปฎิบัติที่ประชาชนต้องรู้ เพื่อให้ปฏิบัติตามกฎจราจรได้อย่างถูกต้อง เนื่องจากมีการเพิ่มโทษในหลายคดี และโดยเฉพาะผู้ขับขี่ที่มีการกระทำผิดซ้ำ 


โดยเฉพาะข้อหาเมาแล้วขับ กระทำผิดครั้งแรก มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากทำผิดซ้ำภายใน 2 ปี นับแต่วันที่กระทำความผิดครั้งแรก เพิ่มอัตราโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับ 50,000-100,000 บาท และศาลจะลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ


นอกจากนี้ ยังเพิ่มอัตราโทษที่เป็นปัจจัยต่อการเกิดอุบัติเหตุ เป็นปัจจัยเสี่ยงในการสูญเสียของ ผู้ขับขี่และผู้ใช้ทาง โดยเพิ่มอัตราโทษปรับ เช่น ขับรถเร็วเกินกำหนด, ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง, ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ปรับไม่เกิน 4,000 บาท (โทษเดิมปรับไม่เกิน 1,000 บาท), ขับรถย้อนศร, ไม่สวมหมวกนิรภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท, ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 500 บาท)


เพิ่มโทษผู้ขับขี่ที่ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตหรือร่างกายของผู้อื่น อัตราโทษเดิมจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท เพิ่มเป็นจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ขณะเดียวกัน มีการกำหนดเรื่องการรัดเข็มขัดนิรภัย รถที่ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยได้ ผู้ขับขี่และผู้โดยสารต้องรัดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง เช่น รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถตู้, สำหรับรถกระบะ ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยในที่นั่งตอนหน้า กรณีเป็นรถกระบะสองตอน ผู้โดยสารตอนหลังต้องรัดเข็มขัดนิรภัยด้วย หากฝ่าฝืนไม่รัดเข็มขัด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท


สำหรับการนั่งบริเวณแค็บ หรือนั่งท้ายกระบะ สามารถนั่งได้โดยไม่ต้องรัดเข็มขัดนิรภัย แต่ต้องนั่งไม่เกินจำนวนที่กำหนดในลักษณะที่ปลอดภัย และผู้ขับขี่ต้องขับขี่ด้วยความเร็วตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติประกาศกำหนด 


ส่วนที่นั่งนิรภัยหรือเบาะนั่งในรถยนต์สำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 ขวบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับกรมการขนส่งทางบก สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน ได้ร่วมประชุมเพื่อกำหนดมาตรฐานที่นั่งนิรภัย และวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่ไม่สามารถใช้ที่นั่งนิรภัยได้ เพื่อจัดทำประกาศเรื่องการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 4 ธันวาคมนี้ 


ซึ่งที่นั่งนิรภัยนี้ ยังไม่เริ่มบังคับใช้ในวันที่ 5 กันยายน แต่จะบังคับใช้เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดทำประกาศและลงประกาศให้ทราบในราชกิจจานุเบกษา





ภาพ TNN Online  

ข่าวแนะนำ