TNN online 17 เขตริมแม่น้ำเจ้าพระยา ผู้ว่าฯกทม.กำชับเฝ้าระวังจุดอ่อนน้ำท่วม

TNN ONLINE

สังคม

17 เขตริมแม่น้ำเจ้าพระยา ผู้ว่าฯกทม.กำชับเฝ้าระวังจุดอ่อนน้ำท่วม

17 เขตริมแม่น้ำเจ้าพระยา ผู้ว่าฯกทม.กำชับเฝ้าระวังจุดอ่อนน้ำท่วม

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. กำชับ 17 เขต พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเฝ้าระวังจุดอ่อนน้ำท่วม เสริมกระสอบทรายบริเวณจุดฟันหลอ

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานประชุมการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในที่ประชุม สำนักการระบายน้ำรายงานการพยากรณ์อากาศโดยกรมอุตุนิยมวิทยาในช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งจะมีฝนตกต่อเนื่อง โดยเฉพาะ 6-8 ส.ค.นี้ ในกรุงเทพฯ จะมีฝนตก 60-80% ของพื้นที่และมีฝนตกหนักบางแห่ง 

โดยมีปริมาณฝนสะสม 200-250 มิลลิเมตร ซึ่งขณะนี้มีปริมาณฝนสะสมอยู่ที่ 99 มิลลิเมตร และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น เนื่องจากจะมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง  จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอันเนื่องมาจากน้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำทะเลหนุน อย่างใกล้ชิด   

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับสำนักงานเขตพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา 17 เขต ประกอบด้วย 

1.เขตบางซื่อ 

2.เขตดุสิต 

3.เขตพระนคร 

4.เขตสัมพันธวงศ์ 

5.เขตบางรัก 

6.เขตสาทร 

7.เขตบางคอแหลม 

8.เขตยานนาวา 

9.เขตคลองเตย 

10.เขตพระโขนง 

11.เขตบางนา 

12.เขตบางพลัด 

13.เขตบางกอกน้อย 

14.เขตธนบุรี 

15.เขตคลองสาน 

16.ราษฎร์บูรณะ 

17.เขตบางกอกใหญ่ 

เฝ้าระวังจุดอ่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยา เสริมกระสอบทรายบริเวณจุดฟันหลอ ทั้งในจุดที่ยังก่อสร้างเขื่อนถาวรไม่แล้วเสร็จ และบริเวณแนวที่รั่วซึม ซึ่งขณะนี้ทุกสำนักงานเขตได้วางกระสอบทรายเสร็จแล้ว คงเหลือบริเวณจุดฟันหลอชุมชนศาลเจ้าเขตสัมพันธวงศ์ขอให้เสร็จสิ้นงานเทกระจาดก่อนจะเร่งวางกระสอบทรายให้แล้วเสร็จ  

นอกจากนี้ ยังจัดเก็บผักตบชวาเปิดทางน้ำไหล ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมเพื่อเร่งสูบน้ำออกกรณีเกิดการท่วมขัง และให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เช่น ทำสะพานไม้ชั่วคราว จัดเทศกิจช่วยบริการช่วยเหลือให้เกิดทางเข้าออกในชุมชน  โดยให้ประสานขอกำลังสนับสนุนพร้อมเครื่องมืออุปกรณ์จากสำนักการระบายหากจำเป็น

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาขณะนี้คือศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม กทม. มีข้อมูลเฉพาะเส้นเลือดใหญ่ คือ ระบบระบายน้ำหลัก แต่ยังขาดข้อมูลเส้นเลือดฝอยในตรอกซอย ชุมชนต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่เขต ทำให้ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงทีและทั่วถึง  เพราะแม้ว่าบนถนนหลักน้ำจะแห้งแล้วในซอยก็ยังต้องใช้เวลาหลังหลังจากนั้น แม้จะเพียงแค่ 30 นาที ก็ทำให้คนที่ต้องรอและได้รับผลกระทบรู้สึกไม่ดี 

เขตจึงต้องลงพื้นที่เพื่อรับทราบปัญหาและพร้อมจะให้ความช่วยเหลือให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ประสานเจ้าหน้าที่เทศกิจ และทหารซึ่งพร้อมจะให้ความช่วยเหลือ โดยขอให้เขตข้างเคียงอื่นๆ ที่น้ำไม่ท่วมมาระดมช่วยเขตที่น้ำท่วมด้วย  

สำนักการระบายน้ำ รายงานเพิ่มเติมว่าขณะนี้ สำนักการระบายน้ำได้ร่วมกับสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง จัดทำแอปพลิเคชันสำหรับให้แต่ละสำนักงานเขตใช้กรอกข้อมูลพื้นที่เสี่ยงและจุดอ่อนน้ำท่วมในพื้นที่ เพื่อเป็นฐานข้อมูลและติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ รวมทั้งการดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาปรับปรุงคาดว่าจะสามารถให้สำนักงานเขตเริ่มทดลองใช้ภายในสัปดาห์นี้ 

ด้านการประชาสัมพันธ์ สำนักงานประชาสัมพันธ์แจ้งแนวทางการประชาสัมพันธ์ว่า มีรายงานสถานการณ์ฝน โดยนำข้อมูลพยากรณ์อากาศกรมอุตุนิยมวิทยาเป็นการให้ข้อมูลคาดการณ์และแจ้งเตือน และรายงานการคาดการณ์ฝนจากข้อมูลเรดาร์ของสำนักการระบายน้ำ 

ผ่านทางสื่อออนไลน์ของ กทม. เช่น  Facebook , Twitter  “กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์” และเพิ่มความถี่ในการรายงานข้อมูลในช่วงที่มีฝนตก พร้อมทั้งนำข้อมูลและภาพการทำงานของสำนักการระบาย การให้แก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชนของเขตพื้นที่ หน่วยงานสนับสนุน เช่น เทศกิจ ทหาร  

ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เน้นย้ำให้มีการประชาสัมพันธ์การทำงานและการให้ความช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ กทม.มาก ๆ รวมทั้งในส่วนของทหารที่ส่งกำลังมาสนับสนุน เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ทหารด้วย รวมทั้งประชาสัมพันธ์แจ้งช่องทางให้ประชาชนสามารถแจ้งเหตุความเดือดร้อนและขอความช่วยเหลือ  ผ่าน  Traffy foundue  ศูนย์ฯ ป้องกันน้ำท่วม 02 248 5115 และ สายด่วนกทม. 1555 




ข้อมูลจาก กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์

ภาพจาก TNN ONLINE (แฟ้มภาพ)



ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง