TNN online จากเคส Shopee ถูกเลิกจ้างกะทันหัน อย่าเพิ่งจิตตก ยังมีสิทธิได้เงินชดเชย

TNN ONLINE

สังคม

จากเคส Shopee ถูกเลิกจ้างกะทันหัน อย่าเพิ่งจิตตก ยังมีสิทธิได้เงินชดเชย

จากเคส Shopee ถูกเลิกจ้างกะทันหัน อย่าเพิ่งจิตตก ยังมีสิทธิได้เงินชดเชย

ถูกเลิกจ้างกะทันหัน อย่าเพิ่งจิตตก ยังมีสิทธิได้เงินชดเชย ก่อนตั้งต้นใหม่ เช็กรายละเอียดที่ลูกจ้างควรจะได้รับที่นี่

จากกรณีข่าว เลิกจ้างกะทันหันของ บริษัท shopee ชื่อดังของสิงคโปร์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อพนักงาน ShopeeFood และ ShopeePay ในประเทศอินโดนีเซีย และ ประเทศไทย รวมถึง ไต้หวัน บราซิล เม็กซิโก ชิลี โคลอมเบีย 

การตัดสินใจ เลิกจ้าง ปลดพนักงาน กว่าครึ่งอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่คงสร้างความประหวั่นพรั่นพรึงในใจให้ใครหลายคน โดยตั้งคำถามว่าถ้าหากถึงคราวของตนเองจะเป็นอย่างไร แต่อย่าเพิ่งจิตตก หลังการถูกเลิกจ้างเรายังมีสิทธิทางกฏหมาย ได้รับค่าชดเชยต่างกรณีกันไป มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1.ถูกเลิกจ้างโดยที่ลูกจ้างไม่มีความผิดมีสิทธิได้รับเงินชดเชยดังนี้ 

ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน 

- ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน 

- ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปีแต่ไม่ครบ 6 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน 

- ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน 

- ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน

2. ในกรณีเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิตการจำหน่าย หรือการบริการอันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่อง จักรหรือเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องลดจำนวนลูกจ้างลง นายจ้างต้องปฏิบัติดังนี้
- แจ้งวันที่จะเลิกจ้าง เหตุผลของการเลิกจ้าง และรายชื่อลูกจ้างที่จะถูกเลิกจ้าง ให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงาน ทราบล่วงหน้าไม่ น้อยกว่าหกสิบวันก่อนวันที่จะเลิกจ้าง
-  ถ้าไม่แจ้งแก่ลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้า หรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่าระยะเวลาหกสิบวัน นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ลูกจ้างเท่ากับค่า จ้างอัตราสุดท้ายหกสิบวัน หรือเท่ากับค่าจ้างของการทำงานหกสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่า จ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย 

ค่าชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านี้ ให้ถือว่านายจ้างได้จ่ายค่าสินจ้างแทน การบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายด้วยนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษเพิ่มขึ้นจากค่าชดเชยปกติดังต่อไปนี้
- ลูกจ้าง ทำงานติดต่อกันครบหกปีขึ้นไป นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชย พิเศษเพิ่มขึ้นจากค่าชดเชยปกติซึ่งลูกจ้างนั้นมีสิทธิได้รับอยู่แล้ว ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสิบห้าวันต่อการทำงานครบหนึ่งปี หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสิบห้าวันสุดท้ายต่อการทำงาน ครบหนึ่งปีสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
- ค่าชดเชยพิเศษนี้รวมแล้วต้องไม่เกินค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อย หกสิบวัน หรือไม่เกินค่าจ้างของการทำงานสามร้อยหกสิบวันสุดท้าย สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย แต่รวมแล้วต้องไม่เกินค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยหกสิบวัน
- เพื่อประโยชน์ในการคำนวณค่าชดเชยพิเศษ เศษของระยะเวลาทำงานที่มากกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ให้นับเป็นการทำงานครบหนึ่งปี

3. ในกรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นอันมีผลกระทบ สำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัว 

- นายจ้างต้องแจ้งล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อน ย้าย ถ้าลูกจ้างไม่ประสงค์จะไปทำงานด้วย ลูกจ้างมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาจ้างได้โดยได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าร้อย ละห้าสิบของอัตราค่าชดเชยปกติที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิ์ได้รับ 

- ถ้านายจ้างไม่แจ้งให้ลูกจ้างทราบการย้ายสถานประกอบกิจการล่วงหน้า นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษ แทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน

ข้อยกเว้นที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย : ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยในกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังนี้ 

1. ลูกจ้างลาออกเอง 

2. ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง 

3. จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย 

4. ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง 

5. ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน ซึ่งหนังสือเตือนนั้นให้มีผลบังคับได้ไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด 

6. ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม โดยไม่มีเหตุอันสมควร 

7. ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก 

8. กรณีการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน และนายจ้างเลิกจ้าง ตามกำหนดระยะเวลานั้น ได้แก่งานดังนี้ 

- การจ้างงานในโครงการ เฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือ การค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน 

- งานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว ที่มีกำหนดงานสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงาน 

- งานที่เป็นไปตามฤดูกาล และได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้นซึ่งจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี โดยนายจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง

สำหรับลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมสามารถรับสิทธิทดแทนจากประกันสังคมได้โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.สิทธิที่ท่านจะได้รับประโยชน์ทดแทนจากประกันสังคมกรณีถูกเลิกจ้าง

ได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท

ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 5,000 บาท

2.กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา

ได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 3,000 บาท

เมื่อผู้ประกันตนสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (ลาออก) สามารถใช้สิทธิประกันสังคมต่อได้อีก 6 เดือน โดยมิต้องเสียค่าใช้จ่าย (กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพและกรณีเสียชีวิต)

ประโยชน์ทดแทนทุกกรณีเมื่อมีสิทธิต้องยื่นเรื่องรับเงินภายใน 1 ปี เว้นแต่ กรณีว่างงาน ผู้ประกันตนจะต้องยื่นขึ้นทะเบียนว่างงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐ ต้องยื่นสิทธิภายใน 30 วัน หลังจากถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงาน หากยื่นสิทธิเกินกว่า 30 วัน จะไม่ได้รับสิทธิย้อนหลัง และหากยื่นสิทธิเกินวันที่จะได้รับสิทธิไปแล้ว จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน

หลักฐานที่ต้องใช้เพื่อขอรับประโยชน์ทดแทนจากประกันสังคม กรณีว่างงาน

- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส. 2-01/7)

- บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน

- รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว 1 รูป (ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน)

- หนังสือรับรองการออกจากงานหรือสำเนาแบบแจ้งการลาออกจากงานของผู้ประกันตน (สปส.6-09) กรณีที่ไม่มีสำเนา สปส.6-09 ก็สามารถไปขึ้นทะเบียนกรณีว่างงานได้

- หนังสือหรือคำสั่งของนายจ้างให้ออกจากงาน (ถ้ามี)

จากเคส Shopee ถูกเลิกจ้างกะทันหัน อย่าเพิ่งจิตตก ยังมีสิทธิได้เงินชดเชย

สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ประกันตน ผ่าน 11 ธนาคาร ดังนี้

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)

ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)

ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)

ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน)

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

ธนาคารออมสิน (ไม่สามารถใช้งานได้เนื่องจากอยู่ในระหว่างการปรับปรุงโปรแกรม)

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) (ไม่สามารถใช้งานได้เนื่องจากอยู่ในระหว่างการปรับปรุงโปรแกรม)

สามารถลงทะเบียนออนไลน์หลังถูกเลิกจ้างได้ตามลิงก์ต่อไปนี้ 

1. ลงทะเบียนของผู้ประกันตนกรณีว่างงานเลิกจ้าง/ลาออกปกติ

ให้ลงทะเบียนที่ ( https://empui.doe.go.th/auth/index )

2. เฉพาะกรณีว่างงานเลิกจ้างจากเหตุโควิด 19 ให้ลงทะเบียนที่

( https://www.sso.go.th )

ข้อมูลจาก  : กระทรวงแรงงาน

ภาพจาก :   AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง