TNN online รู้จัก "วัคซีนเชื้อเป็น-เชื้อตาย" แตกต่างกันอย่างไร?

TNN ONLINE

สังคม

รู้จัก "วัคซีนเชื้อเป็น-เชื้อตาย" แตกต่างกันอย่างไร?

รู้จัก วัคซีนเชื้อเป็น-เชื้อตาย แตกต่างกันอย่างไร?

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เผย วัคซีนแบ่งโดยอาศัยวิธีการผลิตได้เป็น 3 ประเภท คือ วัคซีนประเภทท็อกซอยด์ วัคซีนเชื้อตาย วัคซีนเชื้อเป็น พร้อมแนะข้อควรระวังในการรับวัคซีน

วันนี้ (25 พ.ค.65) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ให้ความรู้เกี่ยวกับวัคซีน โดยวัคซีนแบ่งโดยอาศัยวิธีการผลิตได้เป็น 3 ประเภท คือ

1. วัคซีนประเภทท็อกซอยด์ (Toxoid) วัคซีนที่ผลิตขึ้นโดยการนำพิษของเชื้อโรคมาทำให้หมดฤทธิ์ แต่ยังสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ เช่น โรคคอตีบ โรคบาดทะยัก

2. วัคซีนเชื้อตาย (Killed vaccine) วัคซีนที่ผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อโรคทั้งตัวที่ตายแล้ว หรือเฉพาะส่วนประกอบบางส่วนของเชื้อโรค เช่น วัคซีนตับอักเสบบี วัคซีนไอกรน วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี

3. วัคซีนเชื้อเป็น (Live vaccine) วัคซีนที่ผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อโรคมาทำให้อ่อนฤทธิ์ลงจนไม่สามารถทำให้เกิดโรค แต่เพียงพอที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ เช่น วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม วัคซีนอีสุกอีใส วัคซีนโปลิโอชนิดกิน

ลืมไปรับวัคซีนตามนัด ทำอย่างไร?

สามารถให้ต่อได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นใหม่ ไม่ว่าจะเว้นช่วงห่างไปนานเท่าใด ให้นับต่อจากวัคซีนครั้งก่อนได้

รับวัคซีนก่อนวันนัดได้หรือไม่?

ไม่แนะนำ เพราะจะทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

เผลอไปรับวัคซีนซ้ำ เป็นอันตรายหรือไม่?

โดยทั่วไปการรับวัคซีนซ้ำไม่มีอันตรายรุนแรง แต่อาจมีปฏิกิริยาต่อวัคซีนเพิ่มขึ้นได้ และเป็นการสิ้นเปลือง

วัคซีนคนละบริษัท ใช้ทดแทนได้หรือไม่?

โดยทั่วไปแล้ววัคซีนชนิดเดียวกันที่ผลิตต่างบริษัทสามารถใช้ทดแทนกันได้ในการรับวัคซีนโดสถัดไป กรณีวัคซีนต่างบริษัทที่มีจำนวนโดสให้ไม่เท่ากัน ให้ยึดตามบริษัทที่ให้โดสมากที่สุด

รู้จัก วัคซีนเชื้อเป็น-เชื้อตาย แตกต่างกันอย่างไร?

ข้อควรระวังในการรับวัคซีน 

1. ถ้ามีไข้ ควรเลื่อนการรับวัคซีนออกไป โดยเฉพาะวัคซีนที่อาจทำให้เกิดไข้

2. ผู้ที่มีประวัติได้รับเลือดหรือผลิตภัณฑ์จากเลือดก่อนรับวัคซีนชนิดเชื้อเป็น ควรเลื่อนการให้ออกไป เนื่องจากวัคซีนอาจไม่ได้ผล

3. กรณีแพ้วัคซีนหรือส่วนประกอบในวัคซีน ควรหลีกเลี่ยงการรับวัคซีนชนิดนั้น ๆ

4. หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรรับวัคซีนชนิดเชื้อเป็น

5. หญิงที่ได้รับวัคซีนหัดเยอรมัน หรือวัคซีนเชื้อเป็น ควรคุมกำเนิดหลังรับวัคซีนอย่างน้อย 1 เดือน

6. การรับวัคซีนในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจไม่ได้ผล และควรหลีกเลี่ยงวัคซีนชนิดเชื้อเป็น เพราะอาจเกิดปฏิกิริยารุนแรงจากวัคซีนได้

7. ผู้ที่ได้รับยาสเตียรอยด์ขนาดสูงเป็นเวลานาน ไม่ควรรับวัคซีนเชื้อเป็นจนกว่าจะหยุดยาไปแล้วระยะหนึ่ง


ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

ภาพจาก TNN ONLINE


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง