TNN online ปี 2565 ไทยเข้าฤดูร้อนกลางเดือนกุมภาพันธ์ มท.สั่งรับมือภัยแล้ง

TNN ONLINE

สังคม

ปี 2565 ไทยเข้าฤดูร้อนกลางเดือนกุมภาพันธ์ มท.สั่งรับมือภัยแล้ง

ปี 2565 ไทยเข้าฤดูร้อนกลางเดือนกุมภาพันธ์ มท.สั่งรับมือภัยแล้ง

กรมอุตุฯคาดปี 2565 ไทยเข้าสู่ฤดูร้อนกลางเดือนกุมภาพันธ์ มท.1 สั่งทุกจังหวัดเตรียมรับมือภัยแล้ง กำหนดแผนใช้น้ำให้เหมาะสมในพื้นที่

วันนี้(29 ม.ค. 65) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากการได้ติดตามสภาพอากาศร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในช่วงระหว่างเดือนมกราคม - มีนาคม 2565 ปริมาณฝนรวมประเทศไทยจะต่ำกว่าค่าปกติและคาดว่าจะเข้าสู่ฤดูร้อน ตั้งแต่ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลให้อุณหภูมิเริ่มสูงขึ้น และตั้งแต่เดือนมีนาคมจะมีอากาศร้อนอบอ้าวและแห้ง ความชื้นในอากาศมีน้อย และมีอากาศร้อนจัดเป็นบางวัน โดยเฉพาะบริเวณประเทศไทยตอนบน 

ดังนั้นเพื่อเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2565 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 2564/65 จึงได้สั่งการไปยังกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ทุกจังหวัด เฝ้าระวัง ติดตามข้อมูลสภาพอากาศ ปริมาณฝนที่ตก และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งวางแผนการบริหารจัดการน้ำ โดยใช้กลไกของคณะกรรมการ/คณะอนุกรรมการของจังหวัด กำหนดแนวทางการใช้น้ำในลักษณะต่าง ๆ ทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอุตสาหกรรม ตลอดถึงแนวทางการระบาย และกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ตามแหล่งน้ำขนาดต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ และให้ทบทวนและจัดทำแผนเผชิญเหตุภัยแล้งของจังหวัดให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่ 

นอกจากนี้ ได้สั่งการให้สำรวจพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชนที่เคยเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นประจำ รวมไปถึงพื้นที่อื่น ๆ ที่มีปริมาณฝนตกน้อยจนไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ โดยประสานโครงการชลประทาน การประปาส่วนภูมิภาค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ และสำหรับการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร ให้ดำเนินการตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ปี 2564/65 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกำหนดมาตรการรองรับในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะพืชสวนที่เป็นไม้ยืนต้นและมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ พร้อมประสานกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จัดทำฝนหลวงในพื้นที่เกษตรและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อกักเก็บน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ เพิ่มเติมให้ได้มากที่สุด 

"ได้กำชับให้ทุกจังหวัดเตรียมความพร้อมและบูรณาการกำลังเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรกลสาธารณภัย ทั้งหน่วยงานฝ่ายพลเรือน หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการจัดชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว ให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งได้ตลอด 24 ชั่วโมง และให้ฝ่ายปกครองร่วมกับฝ่ายทหาร ตำรวจ ในพื้นที่ สอดส่อง ทำความเข้าใจ และให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน โดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร ไม่ให้เกิดความขัดแย้งในการแย่งชิงน้ำขึ้น และเชิญชวนประชาชนจิตอาสาในพื้นที่ร่วมซ่อมสร้าง บำรุงรักษาแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็ก เพื่อให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ให้สร้างการรับรู้ให้พี่น้องประชาชนภาคส่วนต่าง ๆ ได้เข้าใจถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ และมาตรการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ และมีส่วนร่วมในการใช้น้ำอย่างประหยัด" พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว

ภาพจาก :   AFP

ข่าวแนะนำ