TNN online พบ “หลุมดำคู่” ใกล้โลก NASA ปล่อยจรวดเร่งไขความลับจักรวาล

TNN ONLINE

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

พบ “หลุมดำคู่” ใกล้โลก NASA ปล่อยจรวดเร่งไขความลับจักรวาล

พบ “หลุมดำคู่” ใกล้โลก NASA ปล่อยจรวดเร่งไขความลับจักรวาล

องค์การ NASA ปล่อยจรวดบรรทุกกล้องโทรทรรศน์อวกาศ IXPE ที่มีความซับซ้อนที่สุดขึ้นสู่อวกาศ เพื่อหวังศึกษาและค้นหาสิ่งลึกลับที่สุดในจักรวาล รวมถึง "หลุมดำ" ที่เพิ่งค้นพบซึ่งใกล้โลกมากที่สุดประมาณ 89 ล้านปีแสง

วันนี้( 10 ธ.ค.64) ภารกิจส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่เรียกว่า Imaging X-ray Polarimetry Explorer หรือ IXPE ขึ้นสู่อวกาศ เป็นความร่วมมือระหว่างองค์การ NASA กับองค์การอวกาศอิตาลี ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 214 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 7,160 ล้านบาท โดยกล้อง IXPE จะขึ้นไปโคจรเหนือพื้นโลกที่ระดับความสูง 539 กิโลเมตรถือเป็นการเดินทางสู่อวกาศครั้งที่ 27 ของ SpaceX ในปีนี้

กล้องโทรทัศน์ IXPE มีเทคโนโลยีชั้นสูง 3 ตัว ที่สามารถวัดโพลาไรเซชัน หรือการบ่งชี้มุมของการหมุนของแสงของรังสีเอ็กซ์ได้ ทำให้กล้องนี้สามารถศึกษาและบันทึกภาพบรรดาวัตถุที่ลึกลับที่สุดในจักรวาล รวมถึงหลุมดำและแหล่งพลังงานวิทยุและแม่เหล็กในกาแล็คซีของจักรวาล  มีอุณหภูมิสูงระดับล้านองศาเซลเซียส

พบ “หลุมดำคู่” ใกล้โลก NASA ปล่อยจรวดเร่งไขความลับจักรวาล

ก่อนหน้านี้ นักดาราศาสตร์จากหอดูดาวแห่งสตราสบูร์กในฝรั่งเศส ได้ค้นพบคู่หลุมดำมวลยวดยิ่ง (Super massive black hole) จากกล้องโทรทรรศน์วีแอลที ที่มีขนาดใหญ่มากของหอดูดาวท้องฟ้าซีกใต้แห่งยุโรป (ESO) เป็นหลุมดำคู่ ซึ่งตั้งอยู่ในแกนกลางของดาราจักร หรือ กาแล็กซีชื่อ NGC 7727 ที่อยู่ใกล้โลกที่สุดประมาณ 89 ล้านปีแสงทำให้แซงหน้าสถิติก่อนหน้านี้ที่ค้นพบหลุมดำคู่หนึ่งอยู่ห่างจากโลก 470 ล้านปีแสง

หลุมดำมีมวลเกือบ 154 ล้านเท่าของดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะของเรา ในขณะที่อีกหลุมดำด้านข้างมีมวล 6.3 ล้านเท่าของมวลดวงอาทิตย์ โดยหลุมดำทั้งสองอาจมีซากดึกดำบรรพ์ของการควบรวมกาแล็กซีเหล่านี้อีกมาก และอาจมีหลุมดำขนาดใหญ่ซ่อนอยู่จำนวนมากเช่นกันที่ยังรอการค้นพบอยู่ และในอนาคตพวกมันทั้งคู่จะชนกันเพื่อควบรวมเป็นหนึ่งเดียวในอีกเกือบ 250 ล้านปีนับจากนี้

การศึกษาล่าสุดจากทีมนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ของเยอรมนีกลับพบว่า หลุมดำใหม่สามารถจะเป็นโรงงานถลุงโลหะล้ำค่าให้กับดวงดาวต่าง ๆ ในจักรวาลได้ด้วย

พบ “หลุมดำคู่” ใกล้โลก NASA ปล่อยจรวดเร่งไขความลับจักรวาล

ดร. โอลิเวอร์ จัสต์ หนึ่งในทีมผู้วิจัย ได้ใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์พิสูจน์ได้ว่า ภายใต้เงื่อนไขบางประการ หลุมดำที่เพิ่งเกิดใหม่และกำลังดูดกลืนกลุ่มฝุ่นและก๊าซจากห้วงอวกาศรอบตัวนั้น สามารถจะทำให้ธาตุหนักก่อตัวขึ้น ภายในจานหมุนของมวลสารต่าง ๆ และพลังงานมหาศาล ซึ่งกำลังหมุนวนรอบหลุมดำอยู่ในขณะนั้น

เสมือนกับการระเบิดซูเปอร์โนวา หรือการระเบิดของดาวฤกษ์เมื่อดาวฤกษ์สิ้นอายุขัย  โดยพลังมหาศาลจะทำให้อะตอมชนกันอย่างรุนแรง จนแต่ละอะตอมสามารถจับเอานิวตรอนของกันและกันมาได้อย่างรวดเร็วในชั่วพริบตา ทำให้เกิดการสังเคราะห์นิวเคลียสและอะตอมของธาตุหนักชนิดใหม่ขึ้น ซึ่งกระบวนการนี้เรียกว่า R-process จึงกลายเป็นแหล่งกำเนิดโลหะล้ำค่าเหมือนบนโลก ไม่ว่าจะเป็นทองคำ เงิน แพลทินัม หรือยูเรเนียม

สำหรับกล้อง  IXPE ที่นาซาส่งไป จะสามารถบันทึกภาพ เพื่อให้นักดาราศาสตร์ ทำความเข้าใจธรรมชาติของหลุมดำรวมถึงวัตถุุลึกลับอื่นๆในจักรวาล




ภาพจาก AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง