“ธรรมศาสตร์” เปิดวงถอด "งานวิจัยไทย" ชี้งานวิจัยพื้นฐาน ต้นทางสร้างเทคโนโลยีชั้นเลิศ
“ธรรมศาสตร์” จับมือ “กทม.” เปิดวงถกสถานการณ์งานวิจัยไทย นักวิจัยชี้ช่องโหว่ไทยไม่สามารถสร้างเทคโนโลยีชั้นเลิศของตัวเองได้ เพราะมุ่งขับเคลื่อนแต่นวัตกรรม
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดเวทีเสวนาหัวข้อ “ธรรมศาสตร์และงานวิจัยเพื่อประชาชน” ภายใน “มหกรรมงานวิจัย 90 ปี นวัตกรรมธรรมศาสตร์ เพื่อประชาชน Thammasat innovation for the people” ซึ่งอยู่ภายใต้ธีม “ร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันพลัดตกหกล้ม” ขึ้น ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (Bacc) เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2567 โดยมี 2 นักวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิจัยแถวหน้าของประเทศร่วมนำเสนอผลงานวิจัย และให้มุมมองถึงสถานการณ์และข้อจำกัดงานวิจัยประเทศไทย
ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ประจำปี 2556 และ 2559 เจ้าของ 3 รางวัลผลงานสิ่งประดิษฐ์โลก กรุงเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ ประจำปี 2559 ในฐานะผู้ทำการวิจัย เรื่อง “โปรแกรมวิจัยขั้นแนวหน้าด้านวิศวกรรมการแพทย์ ระดับ World Class” และ “Hub of Talents Electromagnetic Energy Utilization in Medical Engineering วช.” เปิดเผยว่า งานวิจัยทั้งสองชิ้นนี้ เป็นงานวิจัยด้านวิศวกรรมทางการแพทย์ที่ถือเป็นงานวิจัยพื้นฐานเชิงลึก มุ่งหวังไปสู่การใช้ประโยชน์จริง โดยจะเป็นการรักษามะเร็งรูปแบบใหม่ด้วยการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากำจัดชิ้นเนื้อมะเร็งโดยตรง ช่วยให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัย ไม่ต้องได้รับผลกระทบจากการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด หรือ คีโม (Chemotherapy) ซึ่งการวิจัยนี้ผ่านกระบวนการทดสอบ ดำเนินการซ้ำมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายปี
ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้พยายามนำเสนอว่า ทิศทางการสนับสนุนงานวิจัยควรให้ความสำคัญกับงานวิจัยพื้นฐานให้มากขึ้น แต่จากงบประมาณกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) พบว่าเกือบ 80% กลับทุ่มเทให้กับการสร้างนวัตกรรมผ่านทุนสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund : SF) โดยละเลยการสนับสนุนทุนสนับสนุนงานพื้นฐาน (Fundamental Fund : FF) ทั้งที่นวัตกรรมทั้งหมด เกิดขึ้นโดยมีวิจัยพื้นฐานเป็นรากฐานทั้งสิ้น โดยในต่างประเทศเงินส่วนใหญ่ของรัฐจะนำมาเน้นสร้างงานวิจัยพื้นฐาน ผ่านอาจารย์ สถานบันการศึกษา มหาวิทยาลัย ส่วนการพัฒนานวัตกรรมนั้นจะเปิดช่องให้เอกชนเข้ามาสนับสนุนงบประมาณ ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยคือ ภาระทั้งหมดกลับตกอยู่กับอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ต้องทำทุกขั้นตอน ตั้งแต่ระยะที่ 1 คือการวิจัยพื้นฐาน ที่มุ่งพัฒนาทฤษฎีหรือองค์ความรู้ ระยะที่ 2 ช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การคิดค้นนวัตกรรม และระยะที่ 3 การสร้างนวัตกรรมที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานก่อนออกสู่ตลาด ทั้งนี้ หากย้อนระยะเวลาไปเมื่อ 6-7 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าประเทศไทยเคยมีนโยบายการสนับสนุนงบประมาณในการทำวิจัยและตั้งเป้าหมายไว้อย่างชัดเจนว่า ภาครัฐจะสนับสนุนงบประมาณ 30% ขณะที่ภาคเอกชนสนับสนุน 70% คิดเป็นจำนวนเงินทั้งหมด 1 แสนล้านบาท ทว่าสิ่งที่ปรากฏคือจริง มีเพียงภาครัฐที่สนับสนุนงบประมาณกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยไม่ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน
“โดยหลักการแล้ว อาจารย์ควรจะทำเฉพาะระยะที่ 1 และ 2 ที่เป็นงานวิจัยพื้นฐาน และที่มักมีการพูดว่างานวิจัยเหล่านี้ขึ้นหิ้ง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วสำหรับงานวิจัยพื้นฐาน หิ้งต้องมาก่อน เพราะถ้าฐานไม่แน่น ก็จะไม่สามารถสร้างเทคโนโลยีชั้นเลิศที่เป็นของตัวเองได้ การขับเคลื่อนงานวิจัยนวัตกรรมภายในประเทศ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย” ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัญหาของระบบการสนับสนุนทุนการวิจัยของประเทศไทย คือสิ่งที่เรียกว่า ‘Single Year’ หรือการวิจัยภายในหนึ่งปี ซึ่งการทำวิจัยเพียงปีเดียวแล้วหวังผลเลิศคงเป็นไปไม่ได้ การวิจัยขั้นแนวหน้าภายในปีเดียว แต่จะเอาทั้ง ผลผลิต ผลลัพธ์ ผลกระทบ แบบนี้ไม่ใช่แล้ว ส่วนตัวเล็งเห็นว่า หนทางในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ต้องขับเคลื่อนโดยผู้บริหารระดับนโยบาย เช่น รมว.การกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) รมว.อุตสาหกรรม รมว.เกษตรและสหกรณ์ ฯลฯ ที่จะต้องดำเนินงานร่วมกัน เพื่อสร้างกลไกการบูรณาการสนับสนุนงานวิจัย
ด้าน ศ.ดร.เกศรา ณ บางช้าง อาจารย์ประจำวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี 2564 สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช ผู้มีบทบาทสำคัญในการ “ปราบมาลาเรียดื้อยา” และ “พัฒนายามะเร็งท่อน้ำดี” ในฐานะผู้ดำเนินงานวิจัยเรื่อง “เภสัชพันธุศาสตร์ของโรคมะเร็งท่อน้ำดีและมาลาเรีย เพื่อนำไปสู่การแพทย์แม่นยำระดับประชากรและผู้ป่วยเฉพาะราย” เปิดเผยว่า งานวิจัยชิ้นนี้ถือเป็นหนึ่งในงานวิจัยระดับพื้นฐานด้านเภสัชวิทยาของโรคมาลาเรีย เพื่อการกำหนดนโยบายขนาดยาที่เหมาะสมในการรักษาโรคมาลาเรีย และการค้นคว้าและพัฒนายาด้านมาลาเรียเพื่อทดแทนยาที่มีอยู่และเกิดปัญหาเชื้อดื้อต่อยา รวมไปถึงการวิจัยด้านชีววิทยาระดับโมเลกุลของโรคมะเร็งท่อน้ำดีและการค้นคว้าและพัฒนายาด้านมะเร็งท่อน้ำดี ตลอดจนวิเคราะห์ความหลากหลายทางพันธุกรรมของยีน (Genetic polymorphisms) ซึ่งสัมพันธ์กับความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งท่อน้ำดีและความสัมพันธ์กับการเกิดพยาธิสภาพและความรุนแรงของโรคมาลาเรีย
ศ.ดร.เกศรา กล่าวว่า อุปสรรคอย่างหนึ่งของนักวิจัยที่ทำงานด้านการคิดค้นนวัตกรรมด้านการแพทย์ คือความล่าช้าของกระบวนการจดสิทธิบัตร จากกฎเกณฑ์และมาตรฐานต่างๆ ของ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก รวมไปถึงข้อจำกัดจากหน่วยงานอื่นๆ ที่ประเมินและควบคุมการทำงานของนักวิจัย ที่อาจจะส่งผลให้เกิดคอขวดของปัญหา ทำให้นวัตกรรมใหม่ๆ ที่สร้างโดยนักวิจัยจากประเทศไทยเกิดขึ้นได้ยากลำบาก
“ในฐานะนักวิจัยด้านการแพทย์ รู้สึกว่ากว่าที่นักศึกษาของเราจะได้เริ่มทำวิจัย ต้องผ่านการรับรองจาก คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ (EC) กรรมการห้องปฏิบัติการ กรรมการในสัตว์ กรรมการในคน ซึ่งเราก็เข้าใจดีว่ามันเป็นมาตรฐาน แต่จากการทำงานวิจัยมาเยอะ บ่อยครั้งที่เราก็ต้องโต้แย้ง ว่าเหตุผลที่เขาให้มามันไม่ใช่ ซึ่งมันทำให้เสียเวลา กว่าจะผ่านได้ในบางครั้ง ต้องใช้เวลาเกือบ 2 ปี จะทำอย่างไรที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ให้อยู่ในความพอดีและความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น” ศ.ดร.เกศรา กล่าว
ข่าวแนะนำ