นักวิทย์ค้นพบ “ดาวสองหน้า” สุดแปลก! หมุนรอบตัวเองทุก 15 นาที
นักดาราศาสตร์พบดาวแคระขาวมีสองหน้าสุดแปลกในจักรวาล ด้านหนึ่งเป็นไฮโดรเจน อีกด้านเป็นฮีเลียม หมุนรอบตัวเองทุก 15 นาที
ภาพประกอบข่าว
วันนี้ ( 24 ก.ค. 66 )บรรดานักวิทยาศาสตร์ได้สังเกตเห็นดาวแคระขาวดวงหนึ่ง โดยตั้งชื่อว่า เจนัส ( Janus ) ซึ่งเป็นชื่อของเทพเจ้าสองใบหน้าของชาวโรมัน เนื่องจากพวกเขาพบว่า ด้านหนึ่งของดาวแคระขาวเจนัส มีส่วนประกอบของไฮโดรเจน แต่อีกด้านของดาว มีส่วนประกอบของฮีเลียม
ดร.อิลาเรีย ไคอัสโซ นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์จากคาลเทค และเป็นผู้นำผลการศึกษาตีพิมพ์ลงในวารสารเนเจอร์ เปิดเผยว่า การที่พวกเขาตั้งชื่อเจนัสให้แก่ดาวแคระขาวดวงนี้ เพราะ เจนัส เป็นเทพเจ้าของชาวโรมัน และมีความเหมาะสมอย่างมากกับดาวแคระขาวดังกล่าว เพราะชั้นบรรยากาศของดาวเจนัส ด้านหนึ่ง ประกอบด้วยไฮโดรเจน แต่อีกด้านหนึ่งประกอบด้วยฮีเลียม นอกจากนี้ ดาวเจนัส ยังหมุนรอบตัวเองทุกๆ 15 นาที ดาวแคระขาวเจนัส ตั้งอยู่ในกาแลกซีทางช้างเผือก ห่างจากโลกของเรา ประมาณ 1,300 ปีแสง และมีทิศทางมาจากกลุ่มดาวหงส์
สำหรับเจนัส ถือเป็นดาวแคระขาวที่มีลักษณะค่อนข้างใหญ่ โดยมีมวลใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ของเราร้อยละ 20 เจนัส นับเป็นดาวฤกษ์ระยะสุดท้าย แต่ที่เจนัสต่างจากดาวแคระขาวทั่วไปคือ เป็นดาวสองหน้า ซึ่งเป็นครั้งแรกที่นักดาราศาสตร์พบดาวฤกษ์ที่มีสองด้านแตกต่างกัน
ดร.ไคอัสโซ บอกว่า ดาวแคระขาวคือรูปแบบของดาวฤกษ์ที่ใกล้หมดอายุ และว่า ประมาณร้อยละ 97 ของดาวทั้งหมด จะต้องกลายเป็นดาวแคระขาว เมื่อใกล้หมดอายุ สำหรับชื่อวิทยาศาสตร์ของดาวเจนัส คือ ZTF J203349.8+322901.1 และถูกค้นพบครั้งแรกโดยโครงการ ZTF ซึ่งเป็นการสำรวจทางดาราศาสตร์บนท้องฟ้าจากหอดูดาวพาโลมาร์ของคาลเทคใกล้ซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์ ยังไม่สามารถอธิบายได้ว่า เหตุใดดาวเจนัสจึงมีลักษณะสองด้านไม่เหมือนกัน แต่มีการสันนิษฐานว่า เจนัสอาจอยู่ในระหว่างกระบวนการเปลี่ยนแปลง และเกิดขึ้นในช่วงวิวัฒนาการของดาวแคระขาว ซึ่งโดยทั่วไป ดาวแคระขาวจะมีสนามแรงโน้มถ่วงรุนแรง ส่งผลให้ธาตุหนักกว่าถูกดึงเข้าสู่แกนกลาง และธาตุเบากว่า จะลอย ทำให้เกิดชั้นบรรยากาศสองชั้น ซึ่งมีทั้งฮีเลียม และไฮโดรเจน
ภาพจาก : AFP