TNN online ผลวิจัยจาก “แผ่นดินไหว” พบโครงสร้างชั้นใหม่ใต้เปลือกโลก

TNN ONLINE

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ผลวิจัยจาก “แผ่นดินไหว” พบโครงสร้างชั้นใหม่ใต้เปลือกโลก

ผลวิจัยจาก “แผ่นดินไหว”  พบโครงสร้างชั้นใหม่ใต้เปลือกโลก

ผลวิจัยใหม่จาก “แผ่นดินไหว” นักวิทย์ค้นพบโครงสร้างชั้นใหม่ใต้เปลือกโลก หลังศึกษาภาพถ่ายคลื่นสั่นสะเทือน

วารสาร Nature Geoscience (เนเจอร์ จีโอไซแอน) เผยแพร่ข้อมูล จากนักวิจัยแห่ง มหาวิทยาลัยเทกซัส วิทยาเขตออสตินของสหรัฐฯ ที่ตรวจพบชั้นหินหลอมเหลวซึ่งไม่เคยค้นพบมาก่อนซ่อนตัวอยู่ใต้เปลือกโลก หลังทำการศึกษาการสั่นสะเทือนของชั้นในสุดของโลก บริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวในประเทศตุรกี 

โดยแบบจำลองนี้ แสดงให้เห็นชั้นต่างๆ ของโลก ด้านนอกสุด คือ เปลือกโลก หรือ Crust มีทั้งส่วนที่เป็นแผ่นดินและน้ำที่มองเห็นได้ และส่วนที่เป็นหินแข็งข้างใต้พื้นผิว 

ชั้นถัดมาคือ เนื้อโลก หรือ Mantle มีความหนาประมาณ 2,885 กิโลเมตร เป็นชั้นที่ประกอบด้วยแร่ธาตุที่เป็นของแข็ง มีอุณหภูมิ ความดัน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนธรณีภาค และฐานธรณีภาค 

ส่วน 2 ชั้นด้านในสุด คือ แก่นโลก หรือ Core แบ่งเป็นแก่นโลกชั้นนอก และแก่นโลกชั้นใน

ซึ่งการค้นพบครั้งนี้ เกี่ยวข้องกับ "ชั้นเนื้อโลก" โดยพบว่า มีหินหลอมเหลวที่ไม่เคยค้นพบมาก่อน อยู่ลึกลงไป 161 กิโลเมตรใต้พื้นผิวโลกในชั้นฐานธรณีภาค โดยเป็นชั้นหินแข็งแต่อ่อนนุ่มและอ่อนตัวได้ และพบว่าโครงสร้างทางธรณีวิทยานี้แผ่ปกคลุมทั่วโลกทั้งใบ จนอาจนับเป็นโครงสร้างชั้นใหม่ของโลก

ดร.จุนหลิน ฮัว ผู้นำทีมวิจัย ได้ติดตามสังเกตโครงสร้างชั้นใหม่นี้มาหลายปี รวมถึงศึกษาจากภาพถ่ายคลื่นสั่นสะเทือน หรือ คลื่นแผ่นดินไหวใต้ประเทศตุรกีก่อน จากนั้นจึงขยายการสำรวจโครงสร้างใต้พิภพไปยังภูมิภาคอื่นกว่า 700 ตำแหน่ง จนสามารถสร้างแผนที่โลกของชั้นฐานนี้ได้

นอกจากนั้นยังพบว่า พบว่า ชั้นหินหลอมเหลวนี้มีอุณหภูมิสูงขึ้น และเคลื่อนที่ช้าลงเมื่อแผ่นดินไหว โดยมีอุณหภูมิสูงสุดประมาณ 1,450 องศาเซลเซียส 

การค้นพบนี้ ยืนยัน การวิจัยเดิมเรื่องการพาความร้อนในชั้นเนื้อโลกที่ทำให้เกิดการหมุนเวียน จนแผ่นเปลือกโลกด้านบนเคลื่อนที่ ชนปะทะหรือเกิดรอยแยก ทำให้เกิดแผ่นดินไหวและความเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา รวมถึง การเกิดเทือกเขาสูง

ภาพจาก : AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง