TNN online เปิดงานวิจัย "ใจกลางโลก" เคยหยุดหมุนและเปลี่ยนทิศ

TNN ONLINE

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เปิดงานวิจัย "ใจกลางโลก" เคยหยุดหมุนและเปลี่ยนทิศ

 เปิดงานวิจัย ใจกลางโลก เคยหยุดหมุนและเปลี่ยนทิศ

ข้อมูลใหม่การวิจัย “ใจกลางของโลก”ภายในส่วนลึกที่สุด ไม่ได้เคลื่อนไหวตลอดเวลาและยังมีการเปลี่ยนทิศทางได้ด้วย

วันนี้ ( 26 ม.ค. 66 )วารสารด้านวิทยาศาสตร์ Nature Geoscience ตีพิมพ์ผลวิจัยซึ่งเสนอแนวคิดว่า บริเวณที่เป็นใจกลางข้างในลึกสุดของโลกมีการเปลี่ยนแปลงทิศทางการหมุนเป็นช่วง ๆ แต่ละช่วงกินเวลาหลายสิบปี

โดยนักวิทยาศาสตร์ใช้วิธีสังเกตความเคลื่อนไหวและกิจกรรมของโลก เมื่อเกิดแผ่นดินไหว และปฏิกิริยาของโลกจากการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ในยุคสงครามเย็น ซึ่งจะทำให้โลกส่งคลื่นไหวสะเทือน (Seismic waves) สะท้อนผ่านจุดศูนย์กลางของโลกออกมา

คลื่นไหวสะเทือนเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ส่วนประกอบของใจกลางของโลกส่วนใหญ่เป็นธาตุเหล็กและนิกเกิลบริสุทธิ์ ซึ่งอาจจะหมุนเร็วกว่าโลกส่วนที่เหลืออยู่เล็กน้อย 

การศึกษาใหม่นี้ สำรวจการไหวสะเทือนจากยุคทศวรรษที่ 1960 จนถึงยุคปัจจุบันอย่างใกล้ชิด ทีมนักวิจัยพบว่ามีการพลิกผันของคลื่นในปี ค.ศ. 2009 หลังจากช่วงลายสิบปีก่อนหน้านั้นคลื่นไหวสะเทือนมีรูปแบบเดียวกันโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย ซึ่งอาจตีความได้ว่า ใจกลางของโลกหยุดหมุนในช่วงเวลานั้น 

ข้อมูลจากการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ 2 ครั้ง ก็มีข้อสังเกตในทำนองเดียวกันว่า เกิดการหยุดหมุนของใจกลางโลกในช่วงปี ค.ศ. 1971 และหลังจากนั้น ใจกลางโลกก็เปลี่ยนทิศทางหมุนไปทางทิศตะวันออก ซึ่งนำไปสู่แนวคิดของทีมวิจัยที่เชื่อว่า ส่วนที่เป็นใจกลางโลกนั้น จะหยุดหมุนและเปลี่ยนทิศทางการหมุนไปทุก ๆ 70 ปี

ทฤษฎีเบื้องหลังแนวคิดนี้ก็คือสนามแม่เหล็กของโลกเป็นพลังที่ดึงส่วนที่เป็นใจกลางโลกและทำให้เกิดการหมุน ซึ่งผลวิจัยใหม่นี้อาจช่วยให้เราเข้าใจธรรมชาติอันลึกลับของแกนกลางโลกได้มากขึ้น รวมถึงผลกระทบของมันที่มีต่อเปลือกและชั้นอื่นของโลก แต่ยังคงต้องใช้เวลาอันยาวนานมากกว่าจะไปถึงความเข้าใจที่สมบูรณ์ได้ 

ภาพจาก :  AFP