TNN online คาด ‘ชิ้นส่วนจรวด’ ตกวันนี้บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก-ไม่กระทบไทย

TNN ONLINE

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

คาด ‘ชิ้นส่วนจรวด’ ตกวันนี้บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก-ไม่กระทบไทย

คาด ‘ชิ้นส่วนจรวด’ ตกวันนี้บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก-ไม่กระทบไทย

สดร.เผยคาดการณ์ชิ้นส่วนจรวดหนัก 23 ตันของจีนจะตกลงสู่โลกในวันนี้ บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ไม่กระทบประเทศไทย ขออย่าตื่นตระหนก

บรรดาวงการอวกาศคาดการณ์ว่าชิ้นส่วนขยะอวกาศขนาดใหญ่ของประเทศจีนจะตกลงสู่โลกในวันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 2022 เวลาประมาณ 18:20 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ทั้งนี้ จากการประเมินด้วยใช้ข้อมูลจากระบบติดตามขยะอวกาศหลายแหล่ง จรวดดังกล่าวจะผ่านตอนเหนือทางภาคอีสานของประเทศไทย เวลาประมาณ 13:11 น. ของวันนี้ ก่อนโคจรรอบโลกไปเรื่อย ๆ อีก 4 ถึง 5 รอบโดยไม่ผ่านพื้นที่ประเทศไทย และคาดว่าจะตกลงในมหาสมุทรแปซิฟิก จึงไม่น่าตระหนกแต่อย่างใด

ขยะอวกาศชิ้นนี้คือ ชิ้นส่วนท่อนหลักของจรวดลองมาร์ช 5B (Long March 5B) ที่ใช้ส่งโมดูล หรือส่วนประกอบของสถานีอวกาศ ที่มีชื่อว่า “เมิ่งเทียน” (Mengtian) ซึ่งเป็นโมดูลส่วนที่ 3 และส่วนสุดท้ายของสถานีอวกาศเทียนกง (Tiangong) ที่ส่งขึ้นสู่อวกาศตั้งแต่ในวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา

บริษัท Aerospace Corporation ในสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ว่าท่อนจรวดจะเข้าบรรยากาศโลก (Atmospheric reentry) ในเวลา 18:20 น. (ตามเวลาประเทศไทย) โดยมีค่าความคลาดเคลื่อน ±3 ชั่วโมง ซึ่งช่วงเวลาที่เป็นไปได้ที่กว้างถึง 6 ชั่วโมง ทำให้การประเมินพื้นที่เสี่ยงเป็นไปได้หลากหลายมาก อย่างเช่น บางส่วนของภูมิภาคอเมริกาเหนือ ภูมิภาคอเมริกากลางเกือบทั้งหมด ส่วนใหญ่ของทวีปแอฟริกา บางส่วนทางตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย รวมถึงมหาสมุทรแปซิฟิก

ปัญหาเรื่องขยะอวกาศขนาดใหญ่ของจีนที่ตกลงมาแบบไร้การควบคุมเคยมีมาแล้วก่อนหน้านี้ อย่างชิ้นส่วนท่อนจรวดหลักของจรวดลองมาร์ช 5B ที่เคยตกลงมาแล้ว 3 ครั้ง โดยรอบล่าสุดเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จากการปล่อยจรวดเพื่อส่งโมดูลเวิ่นเทียน (Wentian) ไปประกอบเข้ากับสถานีอวกาศเทียนกง

จรวดเพื่อใช้ส่งดาวเทียมและยานอวกาศรุ่นอื่น ๆ ทั่วโลกส่วนใหญ่จะถูกออกแบบให้ปล่อยจรวดท่อนแรก (ท่อนล่างสุด) ตกลงสู่บริเวณกลางมหาสมุทร หรือพื้นที่รกร้างในช่วงเวลาไม่นานหลังจากเวลาเริ่มปล่อยจรวด หรือการออกแบบให้จรวดกลับมาลงจอดเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ในอนาคต แบบจรวดฟัลคอน 9 (Falcon 9) และฟัลคอนเฮฟวี (Falcon Heavy) ของ SpaceX บริษัทเอกชนด้านเทคโนโลยีอวกาศในสหรัฐฯ แต่ท่อนจรวดหลักของจรวดลองมาร์ช 5B ของจีน ออกแบบให้ไปถึงวงโคจรรอบโลก ซึ่งเป็นจุดที่ไม่สามารถควบคุมทิศทางท่อนจรวดได้แล้ว จึงปล่อยให้เกิดความเสียดทานกับบรรยากาศโลก ทำให้ท่อนจรวดค่อย ๆ ลดระดับแล้วตกลงมาแบบไร้การควบคุม

ถึงแม้มวลส่วนใหญ่ของท่อนจรวดจะเผาไหม้ในบรรยากาศ แต่จะมีชิ้นส่วนหลงเหลือจากการเผาไหม้เหลือถึงพื้นโลก ทำให้ขยะอวกาศชิ้นนี้มีความเสี่ยงต่อประชาชนและโครงสร้างต่าง ๆ บนพื้นโลกในบริเวณเส้นทางที่ชิ้นส่วนท่อนจรวดผ่านระหว่างกำลังตกลงมา

ทางบริษัท Aerospace Corporation อธิบายเพิ่มเติมว่าในกรณีขยะอวกาศขนาดใหญ่ที่ตกลงมาโดยปกติแล้ว จะมีมวลเหลือราว 20-40% ที่จะหลงเหลือจากการเผาไหม้ในบรรยากาศโลก ดังนั้น กรณีของท่อนจรวดหลักของจรวดลองมาร์ช 5B มวลที่หลงเหลือถึงพื้นโลกจะอยู่ที่ประมาณ 5.5-9.9 ตัน

อย่างไรก็ตาม ความน่าจะเป็นของพื้นที่ตกของชิ้นส่วนท่อนจรวดน่าจะเป็นมหาสมุทร เนื่องจากพื้นผิวโลกราว 70% เป็นมหาสมุทร แต่ก็ไม่ควรมองข้ามความน่าจะเป็นที่ท่อนจรวดจะตกลงแผ่นดิน ที่เคยมีกรณีท่อนจรวดของจรวดลองมาร์ช 5B ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2020 ที่ตกลงมาบริเวณหมู่บ้านในประเทศโกตดิวัวร์ ทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา 

ถึงแม้จะไม่เคยมีคนบาดเจ็บและเสียชีวิตในครั้งนั้น (รวมถึงการตกลงมาของท่อนจรวดลองมาร์ช 5B ครั้งอื่น ๆ) แต่เราต้องไม่ลืมข้อเท็จจริงว่า การปล่อยให้ขยะอวกาศขนาดใหญ่เช่นนี้ตกสู่พื้นโลกแบบไร้การควบคุม เป็นการสร้างความเสี่ยงอย่างไม่จำเป็นต่อประชากรบนพื้นโลก ทำให้หน่วยงานในวงการสำรวจอวกาศและผู้สนับสนุนการสำรวจอวกาศส่วนหนึ่งตำหนิทางจีนเรื่องการจัดการขยะอวกาศขนาดใหญ่ที่ตกลงมาสู่โลก


ข้อมูลจาก : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ภาพจาก  : AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง