TNN นายกฯ หวังต่างชาติมาเรียนต่อยมวยที่ไทย ต่อยอดซอฟท์พาวเวอร์ธุรกิจ ท่องเที่ยว

TNN

การเมือง

นายกฯ หวังต่างชาติมาเรียนต่อยมวยที่ไทย ต่อยอดซอฟท์พาวเวอร์ธุรกิจ ท่องเที่ยว

นายกฯ หวังต่างชาติมาเรียนต่อยมวยที่ไทย ต่อยอดซอฟท์พาวเวอร์ธุรกิจ ท่องเที่ยว

นายกฯ หวังนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเรียนต่อยมวยที่ประเทศไทย จุดประกายต่อยอดซอฟท์พาวเวอร์ ธุรกิจท่องเที่ยว กีฬา แฟชั่น

นายกฯ หวังนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเรียนต่อยมวยที่ประเทศไทย ชูมวยไทย เป็นหนึ่งใน Mix martial arts มีโอกาสขยายเป็นธุรกิจท่องเที่ยว กีฬา แฟชั่น สร้างอาชีพ และพัฒนาวิทยาศาสตร์กีฬาไทย


นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่าน X Srettha Thavisin @Thavisin โดยระบุว่า “ภูเก็ตมีฝรั่งปิดซอยต่อยกันแล้วครับ” เพื่อนคนภูเก็ตบอกผมและให้ดูรูปค่ายมวยไทย ฟังแล้วน่าสนใจ จุดประกายต่อยอดเรื่องซอฟท์พาวเวอร์ การท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและธุรกิจเกี่ยวกับ Mixed martial arts ได้มากเลยครับ


ในภูเก็ตนี่มีค่ายมวยกว่า 300 แห่ง ทั้งค่ายใหญ่ค่ายเล็กมีรูปแบบการสอนหลากหลาย

อย่างในรูปนี่คือ “ค่ายซิมบี้มวยไทย” ที่หาดในหานเป็นค่ายมวยขนาดกลางมีครูประมาณ 30 คน 


ทำให้ผมรู้ว่าที่ภูเก็ตมี Muay Thai Village ซึ่งตั้งอยู่ใน “ซอยตาเอียด” ตำบลฉลอง ในซอยนั้นมีค่ายมวยหลายสิบค่าย และค่ายที่ใหญ่สุดคือค่ายมวยไทเกอร์ที่โด่งดังไปทั่วโลก ไทเกอร์มวยไทยนี่ มีครูกว่า  100 คน มีนักเรียนลงทะเบียนเรียนตลอด 1 ปีที่ผ่านมากว่า 80,000 คน  มีเวที 12 เวที สำหรับจัดการแข่งขัน คิดดูครับค่ายมวย 1 ค่ายนี้จะนำมาสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขนาดไหน


อย่างแรกเลย นักเรียนมวยเหล่านี้ มาเรียนชกมวยคอร์สเริ่มต้น ก็ 15 วันแล้ว และมีคอร์ส 1 เดือน จนไปถึงหลายเดือน บางทีก็มาเรียนกันทั้งครอบครัว รวมเด็กเล็กๆก็มาเรียนกับพ่อแม่ด้วย และนี่ทำให้เราได้นักท่องเทียวแบบ “พำนักระยะยาว” ซึ่งตอบโจทย์เรื่องการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวที่คุ้มค่ากับโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่เราต้องลงทุนไปกับการท่องที่ยว


เมื่อพำนักระยะยาวแล้วก็มีธุรกิจตามมาหลายอย่าง แค่ใน “ซอยตาเอียด” ที่เดิมเป็นพื้นที่สวนยาง ชาวบ้านก็ปรับเปลี่ยนบ้านตัวเองเป็นที่พักอาศัย มีร้านอาหาร ร้านขายของ ร้านซักผ้า เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับรากฝอย กระจายรายได้ลงสู่ชุมชม


สินค้าที่เกี่ยวข้องกับค่ายมวยก็เป็นที่นิยม เช่น กางเกงมวยจากค่าย ดัง ๆ อย่างไทเกอร์มวยไทย ใส่กันไปทั่ว เป็นของขายที่มีราคา กางเกง เสื้อชื่อค่ายมวย ประเจียดคล้องคอ ประเจียดรัดแขน  และมงคลประเจียด (ที่คาดหัว) สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศ ทำเงินให้กับผู้ผลิตและผู้ขายอย่างมหาศาล


เมื่อนักเรียนมวยเรียนจบแล้วก็มี “เวที“ ให้ขึ้นชก ขายบัตรเข้าชมได้ และเมื่อนักเรียนเขานี้ได้แต่งตัว ไหว้ครูขึ้นชกเหมือนเป็นมืออาชีพมีรูปลงโซเชียลมีเดียก็ทำให้คนอยากมาเรียนกันอีก 


สุดท้ายที่น่ายินดี คือ “ครูมวย” คือ นักมวยอาชีพที่เลิกชกแล้ว พวกเขาได้ทำหน้านี้สืบสานศิลปะการต่อสู้ของไทยอย่างมีศักดิ์ศรีและมีรายได้  นักมวยที่มีดีกรีได้ครองเข็มขัดแชมป์จากสนามมวยลุมพินี หรือสนามมวยราชดำเนิน ก็สามารถหารายได้ได้ถึงชม.ละ 2,000 บาท เท่ากับว่า อายุงานของนักมวยอาชีพไม่ได้หยุดอยู่แค่การเป็นนักมวยแต่คือการเป็นเทรนเนอร์มวยไทยที่ยิ่งมากประสบการณ์ค่าตัวยิ่งสูงยิ่งเป็นที่ตัองการของตลาด


มวยไทยอยู่ใกล้ตัวคนไทยและเราชินที่จะเห็นมวยไทยเป็นแค่กีฬาขึ้นชกบนเวที แต่การเติบโตของค่ายมวยอย่างไทเกอร์ที่ตอนนี้เปิดที่สิงค์โปร์ ที่จีน หรือค่ายซิมบี้ ทำให้เรามองมวยไทยในฐานะที่เป็นหนึ่งใน Mix martial arts และมีโอกาสขยายเป็นธุรกิจท่องเที่ยว กีฬา แฟชั่น ไปจนถึงเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาวิทยาศาสตร์การกีฬาในประเทศไทย ทั้งหมดคือห่วงโซ่ทางธุรกิจที่จะสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับผู้คนได้กว้างขวาง 


ผมอยากให้ทั้ง ฝรั่ง จีน แขก ไทย อยากมาปิดซอยเรียนต่อยมวยที่ประเทศไทยครับ





ภาพจาก รัฐบาลไทย

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง