TNN online เปิดเหตุผลศาล ชี้สูตร หาร 100 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

TNN ONLINE

การเมือง

เปิดเหตุผลศาล ชี้สูตร หาร 100 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

เปิดเหตุผลศาล ชี้สูตร หาร 100 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันชี้ว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ พร้อมมีมติเสียงข้างมากชี้ว่า การคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ ด้วยสูตรหาร 100 และการเลือกตั้งด้วยบัตรสองใบ ไม่ขัดกับมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยให้เหตุผลว่าการคำนวณเป็นหน้าที่ของ กกต.

"ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ"   มีมติเป็นเอกฉันท์ วินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตราขึ้นโดยถูกต้องตามบทบัญญัติแห่ง จากการที่ผู้ร้องเห็นว่ามีกระบวนการเตะถ่วงให้การพิจารณาเลยกรอบเวลา 180 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้รัฐธรรมนูญ  นอกจากนี้ ยังมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า มาตรา 25 ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และมาตรา 94 ตามที่อ้างว่ามาตรา 25 ไปยกเลิกมาตรา 130 ของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2561 ทำให้ขัดและแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93  ส่วนการวินิจฉัยมาตรา 26 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เสียง ชี้ว่าไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และมาตรา 94 ตามที่อ้างว่ามาตรา 26 ไปยกเลิกมาตรา 131 ของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2561 ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 94 ซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับการคำนวณหา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ด้วยสูตรหาร 100 และการเลือกตั้งด้วยบัตรสองใบ


 ทั้งนี้ ตุลาการเสียงข้างน้อย 2 คน คือ "นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม และ นายจิรนิติ หะวานนท์ ซึ่งเห็นว่ามาตรา 26 ของร่างกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะมีการยกเลิกมาตรา 131 ทั้งมาตรา หากมีการทุจริตเลือกตั้งและต้องมีการเลือกตั้งใหม่ใน 1 ปี จะต้องมีการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อใหม่ แต่มาตราดังกล่าวถูกตัดทิ้งไป จึงอาจมีปัญหาทางปฏิบัติในการจัดเลือกตั้งหรือไม่


ขณะที่ตุลาการเสียงข้างมาก 7 คน  เห็นว่าไม่จำเป็นต้องบัญญัติไว้ เพราะใช้ไม่ได้อยู่แล้ว เนื่องจากระบบเลือกตั้งมีบัตรสองใบ การนับคะแนนก็ต้องแยกกันคนละส่วน โดยเฉพาะการคำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อเป็นอำนาจของ กกต. ซึ่งมีอยู่ในบทบัญญัติแล้วมาตรา 27 และตุลาการไม่อาจจะไปชี้ได้ว่าจะต้องมีการคำนวณอย่างไร เพราะเป็นหน้าที่ของ กกต.  


สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ จะแจ้งผลคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไปยังนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อส่งร่างกฎหมายดังกล่าวให้รัฐบาลดำเนินตามกระบวนการต่อไป โดยก่อนนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะต้องพักร่างฯ รอไว้ 5 วัน เผื่อมีสมาชิกรัฐสภา หรือ นายกรัฐมนตรีเห็นว่าร่างกฎหมายนั้นมีข้อความขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ก็สามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ทั้งนี้ หากพ้น 5 วันแล้ว ไม่มีประเด็นส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรี จะนำร่างฯ ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อทรงลงปรมาภิไธย ภายใน 20 วัน 


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง