TNN online "วราวุธ" ติดตามการบริหารจัดการน้ำ จ.พิจิตร

TNN ONLINE

ภูมิภาค

"วราวุธ" ติดตามการบริหารจัดการน้ำ จ.พิจิตร

วราวุธ ติดตามการบริหารจัดการน้ำ จ.พิจิตร

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดพิจิตร เร่งแก้ภัยแล้งสั่งกำชับให้กรมทรัพยากรน้ำ เร่งกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนให้ได้มากที่สุด

วันที่ 30 พฤษภาคม 2563 นายวราวุธ  ศิลปอาชา  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดพิจิตรโดยจุดแรก ลงพื้นที่ดูการกักเก็บน้ำบริเวณประตูระบายน้ำบ้านแหลมยาง หน้าวัดยางคอยเกลือ  ตำบลป่ามะคาบ  อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร  ซึ่งประตูดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทรัพยากรน้ำ  และยังเป็นประตูที่บริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่ลุ่มน้ำชมพู และลำคลองสาขา ที่รับน้ำฝนมาจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ ก่อนที่จะไหลลงสู่แม่น้ำน่าน 

วราวุธ ติดตามการบริหารจัดการน้ำ จ.พิจิตร

ทั้งนี้ประตูน้ำดังกล่าว สามารถกักเก็บน้ำในฤดูน้ำหลาก ไว้ให้ประชาชนได้ทำการอุปโภค-บริโภค และทำการเกษตรกรรมในฤดูแล้ง จำนวน 3 ตำบล ได้แก่ตำบลป่ามะคาบ และตำบลท่าฬ่อ อำเภอเมืองพิจิตร และตำบลไผ่ล้อม อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก สามารถบรรเทาและลดความเดือดร้อนเกษตรกรลงได้  ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ได้เดินทางไปยังบึงอินทนิล ตำบลป่ามะคาบ อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร เพื่อส่งมอบ “โครงการกักเก็บน้ำพร้อมระบายกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์” ให้กับ อบต.ป่ามะคาบ 

วราวุธ ติดตามการบริหารจัดการน้ำ จ.พิจิตร

โดยโครงการดังกล่าวสูบน้ำจากบึงอินทนิล ซึ่งเป็นแก้มลิงขนาดใหญ่ สูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ส่งน้ำไปยังพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรโดยตรงได้อย่างทั่วถึง ซึ่งโครงการดังกล่าวใช้เทคโนโลยีการเก็บสำรองน้ำในถังน้ำแบบแคปซูลขนาดใหญ่ ที่มีความทนทานต่อแสงแดด ลม ฝนและทนแรงดันสูง สำหรับโครงการดังกล่าวเป็นที่แรกและเป็นโมเดลแห่งแรกของประเทศ โดยใช้งบประมาณดำเนินการ 704 ล้านบาท มีประชาชนได้รับประโยชน์ 3 ตำบลจำนวน 3,332 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ทำการเกษตร จำนวน 49,936 ไร่ 

        

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กำชับให้กรมทรัพยากรน้ำเร่งกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนให้ได้มากที่สุด พร้อมกับบริหารจัดการน้ำโดยยึดหลักของในหลวงรัฐกาลที่ 9 ในการบริหารจัดการน้ำ เช่นการขุดลอกแก้มลิง อ่างพวง และระบบการกระจายน้ำ ทั้งนี้เพื่อให้มีการเชื่อมแก้มลิงต่างๆเข้าด้วยกันจนเป็นแนวทางของอ่างพวงขึ้นมา เพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างเพียงพอ เป็นการรับมือกับภาวะฝนทิ้งช่วงรวมถึงวิกฤติภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต  อีกทั้งเพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบความเดือดร้อนให้กับประชาชนทั้งด้านน้ำอุปโภค-บริโภคและทำการเกษตร

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง