TNN online เร่งโครงการสร้างฝายกั้นลำน้ำยม แก้ปัญหาภัยแล้ง-อุทกภัย

TNN ONLINE

ภูมิภาค

เร่งโครงการสร้างฝายกั้นลำน้ำยม แก้ปัญหาภัยแล้ง-อุทกภัย

เร่งโครงการสร้างฝายกั้นลำน้ำยม แก้ปัญหาภัยแล้ง-อุทกภัย

แก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย บริเวณฝายกั้นแม่น้ำยม จังหวัดพิจิตร เร่งรัดให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือนเพื่อกักเก็บน้ำได้ทันฤดูฝนนี้

วันที่ 24 พฤษภาคม 2563 จากปัญหาภัยแล้งซ้ำซากในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำยมตลอดสาย โดยเฉพาะพื้นที่ทำการเกษตรในอำเภอสามง่าม โพธิ์ประทัยช้าง บึงนาราง โพทะเล และอำเภอวชิรบารมี เกษตรกรขาดแคลนน้ำทำการเกษตร และได้รับตวามเดือดร้อนเป็นประจำทุกปีเนื่องจากน้ำต้นทุนจากแม่น้ำยมและลำคลองสาขาไม่มี

โดยวันนี้ นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยคณะจากกรมชลประทาน และสำนักชลประทานที่ 3 รวมทั้งส่วนราชการจังหวัดพิจิตร ลงพื้นที่ตรวจติดตามโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และอุทกภัย พื้นที่ลุ่มแม่น้ำยมจังหวัดพิจิตร บริเวณฝายสามง่าม โครงการฝายไฮดรอลิก (Hydraulic) แบบฐานพับได้ต.รังนก อ.สามง่าม และโครงการประตูระบายน้ำวังจิก อ.โพธิ์ประทับช้าง

เร่งโครงการสร้างฝายกั้นลำน้ำยม แก้ปัญหาภัยแล้ง-อุทกภัย  

นายนราพัฒน์ กล่าวว่า ทั้ง 2 โครงการนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการฝายกักเก็บน้ำแบบขั้นบันไดตลอดลำน้ำยม ตั้งแต่จังหวัดสุโขทัย พิจิตร ถึงนครสวรรค์ รวมเกือบ 20 ฝาย เพื่อให้สามารถชะลอน้ำไว้ใช้ได้มากที่สุด เพราะลำน้ำยมไม่มีเขื่อนใหญ่กักเก็บน้ำ โดยในส่วนของฝายสามง่าม ซึ่งเดิมเป็นฝายยางชำรุดมานาน ขณะนี้การดำเนินการเป็นไปตามแผน จะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน ซึ่งจะกักเก็บน้ำได้ทันฤดูฝนนี้ โครงการนี้เมื่อแล้วเสร็จ จะทำให้มีปริมาณน้ำกักเก็บเพิ่มขึ้นจาก 11 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 16 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ทำการเกษตรได้ประโยชน์เพิ่มอีกประมาณ 5,000 ไร่ ส่วนโครงการประตูระบายน้ำวังจิก ซึ่งเกิดความล่าช้าจากการเวนคืนที่ดิน และสภาพดินในโครงการเป็นดินเหนียว ต้องเพิ่มอุปกรณ์ในการก่อสร้าง ขณะนี้ปัญหาทุกอย่าคลี่คลายแล้ว จะติดตามเร่งรัดโครงการให้แล้วเสร็จตามแผนภายในปี 2565

เร่งโครงการสร้างฝายกั้นลำน้ำยม แก้ปัญหาภัยแล้ง-อุทกภัย  

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยอมรับว่า สถานการณ์ภัยแล้งในภาพรวมปีนี้มีแนวโน้มรุนแรง น้ำต้นทุนมีน้อย โดยเฉพาะในเขื่อนหลัก ทั้งเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำพร้อมใช้งานเพียง 9-10% ซึ่งทางชลประทานต้องบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มที่ พร้อมขอความร่วมมือเกษตรกรชะลอ หรือลดพื้นที่เพาะปลูกข้าว เพื่อป้องกันความเสียหาย หากฝนมาเต็มที่ช่วงเดือนกรกฎาคมตามที่คาดการณ์ก็จะบรรเทาปัญหาได้ส่วนหนึ่ง ส่วนการทำฝนหลวง ยืนยันว่ามีการบินขึ้นปฏิบัติการทุกวัน แต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องสภาพอากาศและปริมาณความชื้นที่เหมาะสม จึงไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะให้ฝนตกในพื้นที่ใด

เร่งโครงการสร้างฝายกั้นลำน้ำยม แก้ปัญหาภัยแล้ง-อุทกภัย

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง