ปภ. เตือน 10 จังหวัดริมเจ้าพระยา ระวังน้ำล้นตลิ่ง ตั้งแต่ 26 ก.ค.เป็นต้นไป
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือน 10 จังหวัดและกทม.เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ 26 ก.ค.เป็นต้นไป เนื่องจากประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นจนถึงสิ้นเดือน
นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ปภ. ได้รับแจ้งจากกรมชลประทานว่า ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 กรกฎาคม 2567 ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ และจากการคาดการณ์ปริมาณน้ำ 1-3 วันข้างหน้า พบว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จึงได้ประสานจังหวัดริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 10 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมถึงกรุงเทพมหานคร ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ พร้อมแจ้งเตือน บริษัท ห้างร้าน ผู้ประกอบการ และประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำให้เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์
กรมชลประทาน เผยว่า ยังคงอัตราการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาไว้ไม่เกิน 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อลดผลกระทบกับพื้นที่ท้ายเขื่อน โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนทรงตัว ล่าสุดวัดได้ 10 เมตร 10 เซนติเมตร แต่จะปรับเพิ่มการระบายไปอยู่ในเกณฑ์ 1,100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในช่วงวันที่ 27 กรกฎาคม โดยมีพื้นที่ต้องเฝ้าระวังด่านแรก คือ คลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง / คลองบางบาล อำเภอเสนา,อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คาดว่า พื้นที่ ริมฝั่งแม่น้ำน้อยจะมีระดับน้ำสูงขึ้น 15-30 เซนติเมตร ในระยะ 24 ชั่วโมงข้างหน้านี้
สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ที่อำเภออินทร์บุรี อำเภอเมืองสิงห์บุรี และอำเภอพรหมบุรี ชลประทานยืนยันว่า สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังคงทรงตัว การระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาลงสู่พื้นที่ท้ายเขื่อนไว้ ไม่เกิน 800 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่สิงห์บุรีสูงขึ้นเล็กน้อย แม้ว่าในเช้าวันนี้จะมีฝนตกลงมาในพื้นที่ แต่สถานการณ์ทั่วไปก็ยังคงไม่น่ากังวล อย่างไรก็ตามกรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ หากปริมาณน้ำและปริมาณฝนในพื้นที่ตอนบนมีแนวโน้มลดลง กรมชลประทานก็จะปรับลดการระบายน้ำ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนบริเวณท้ายเขื่อนให้มากที่สุด
ที่มา : ปภ. - กรมชลประทาน
ข่าวแนะนำ