TNN online พัฒนาแนวทางใหม่รักษา “มะเร็งสมอง” ใช้อัลตร้าซาวด์นำส่งยาพุ่งเป้า

TNN ONLINE

Health

พัฒนาแนวทางใหม่รักษา “มะเร็งสมอง” ใช้อัลตร้าซาวด์นำส่งยาพุ่งเป้า

พัฒนาแนวทางใหม่รักษา “มะเร็งสมอง” ใช้อัลตร้าซาวด์นำส่งยาพุ่งเป้า

นักวิจัยแคนาดา ศึกษาแนวทางการรักษาโรคมะเร็งสมอง ด้วยการใช้อัลตร้าซาวด์นำส่งยาพุ่งเป้า ส่งยาเข้าไปยังเนื้อเยื่อสมองทำให้เซลล์มะเร็งหดตัว

ดร.เนอร์ ลิปส์แมน หัวหน้าคณะนักวิจัยจากศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพซันนี่บรุ๊ค ประเทศแคนาดา ได้ศึกษาแนวทางการรักษา โรคมะเร็งสมอง โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงโฟกัสต่อเนื้อเยื่อเป้าหมาย (magnetic resonance-guided focused ultrasound) ในกลุ่มผู้ป่วยหญิง 4 ราย ซึ่งป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมและแพร่กระจายไปที่สมอง


ผลการศึกษาในกลุ่มทดลอง พบว่า การใช้คลื่นเสียงความถี่สูงโฟกัสต่อเนื้อเยื่อเป้าหมาย สามารถส่งยาที่ออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง ไปยังเนื้อเยื่อสมองได้อย่างปลอดภัยและทำให้เซลล์มะเร็งหดตัว เนื่องจากคลื่นเสียงความถี่สูงได้ไปเปิดแนวกั้นเลือด และสมอง (blood brain barrier) ทำให้สารต่างๆ สามารถผ่านเข้าไปยังสมองได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ดร.ลิปส์แมน อธิบายว่า วิธีการนี้เป็นกระบวนการชั่วคราว ที่ทำให้แนวกั้นเลือดและสมองถูกเปิด ภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง ช่วยให้ไม่ว่าอะไรก็ตามที่หมุนเวียนอยู่ในกระแสเลือด สามารถเข้าไปยังโรคพยาธิสภาพของสมองตามที่ต้องการได้


แม้ว่างานวิจัยนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการประเมินความปลอดภัย แต่เบื้องต้นพบว่าเซลล์มะเร็งสามารถดูดซึมตัวยาและหดตัวลง และที่สำคัญยังไม่มีผู้ป่วยในกลุ่มทดลองรายใดมีอาการรุนแรง นอกจากนี้ ยังพบว่าแนวกั้นเลือดและสมอง สามารถกลับมาปิดอีกครั้งหลังจาก 24 ชั่วโมง


ดร.ลิปส์แมน บอกว่า การใช้คลื่นเสียงเพื่อนำส่งยา เป็นแนวความคิดเชิงทฤษฎีมานานมาก แต่งานวิจัยชิ้นนี้ถือว่าเป็นครั้งแรก ที่ทำให้เห็นว่าคณะนักวิจัยสามารถนำส่งยาไปที่สมองได้


ด้าน เควิน โอเนล ที่ปรึกษาศัลยแพทย์ระบบประสาท แห่งศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านวิจัยโรคมะเร็งสมอง วิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน บอกว่า ปัจจุบันมีวิธีการรักษาโรคมะเร็งสมองจำนวนมาก การฉีดยาโดยตรงไปยังสมองเป็นอีกหนึ่งวิธีการ ที่ใช้ในรักษาโรคมะเร็งสมอง แต่การใช้คลื่นเสียงเพื่อนำส่งยาไปยังสมอง นับว่าเป็นวิธีการที่ลดการบาดเจ็บได้อย่างมีประสิทธิภาพ 



ที่มา: 


- The Guardian, Ultrasound trial offers hope for brain cancer patients

- Science Translational Medicine


ภาพ: Pexels

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง