“ปลายมือ-ปลายเท้าเย็น” เกิดขึ้นได้แม้ท่ามกลางอากาศร้อนชื้น
โรคปลายมือ-ปลายเท้าเย็น เกิดขึ้นได้แม้ท่ามกลางอากาศร้อนชื้น พบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่จะพบได้บ่อยในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และในฤดูฝนเป็นฤดูที่มีความชื้นค่อนข้างสูง
อาการปลายมือปลายเท้าเย็น เป็นอาการที่พบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่จะพบได้บ่อยในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ตั้งแต่ในวัยเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ และคนชรา และในฤดูฝนเป็นฤดูที่มีความชื้นค่อนข้างสูง ซึ่งมาพร้อมกับความเย็นลักษณะเด่นของความเย็นและความชื้น คือทำให้อัตราการไหลเวียนเลือดและพลังงานในร่างกายลดต่ำลง ช้าลง เกิดความหนืดความหน่วงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณปลายรยางค์ หรือปลายมือปลายเท้า ซึ่งเป็นจุดที่อยู่ห่างไกลจากหัวใจ จึงเป็นจุดที่มีปัญหามากกว่าส่วนอื่น ๆ หากเป็นผู้ป่วยที่มีกลุ่มอาการ หนาวง่าย เหนื่อยง่าย หายใจได้ไม่ค่อยลึก ร่วมด้วย จะยิ่งทวีความรุนแรงของอาการปลายมือปลายเท้าเย็นให้มากยิ่งขึ้น
ในบางรายอาจมีอาการ ปลายมือปลายเท้าชา เกิดตะคริวบ่อย ๆ ช่วงกลางคืน เล็บซีดหรือม่วง ซึ่งในกลุ่มนี้ทางแพทย์แผนจีนจะเรียกว่า กลุ่มอาการที่เกิดจาก “หยางพร่อง” หรือกลุ่มอาการที่ร่างกายขาดพลังงานความร้อนนั่นเอง
อาการขี้หนาว หรือหนาวง่ายกว่าปกติ มักเป็นอาการที่มาควบคู่กับอาการ “ปลายมือ- ปลายเท้าเย็น” อาจสังเกตได้ว่าในสถานที่หรือห้องที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส บางท่านอาจรู้สึกกำลังเย็นสบาย แต่บางท่านอาจรู้สึกร้อน และบางท่านอาจรู้สึกหนาวสั่น รู้สึกหนาวกว่าคนรอบ ๆ ข้าง ซี่งบางครั้งรู้สึกหนาวเข้าไปถึงกลางอก ต้องสวมเสื้อหนา ๆ หรือปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้สูงขึ้น จึงจะรู้สึกดี หรืออีกกลุ่มหนึ่งที่อาจมีอาการปลายมือปลายเท้าเย็นร่วมด้วย แต่ลักษณะอาการบางอย่างจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เช่น ไม่รู้สึกเหนื่อยง่าย หรือขี้หนาว แต่กลับมีอาการขี้ร้อน รู้สึกร้อนบริเวณกลางอก แกนกลางลำตัวร้อน แต่กลับรู้สึกเย็นเฉพาะปลายมือ-ปลายเท้า ร่วมกับพื้นฐานเป็นคนที่โมโหง่าย โกรธง่าย หรือขี้กังวล วิตกกังวลเป็นประจำ อาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปลายมือปลายเท้าเย็นได้ กลุ่มอาการลักษณะนี้จะเกิดจาก “ลมปราณติดขัด” รวมถึงในกลุ่มคนที่มีภาวะเลือดจาง หรือเลือดอยู่ในระดับที่น้อยกว่าเกณฑ์ปกติ ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปลายมือปลายเท้าเย็นได้เช่นเดียวกัน
วิธีบรรเทาอาการปลายมือปลายเท้าเย็นแบบง่าย ๆ ในเบื้องต้น
1. ออกกำลังกาย การออกกำลังกายจะช่วยกระตุ้นการทำงานของหัวใจ ช่วยให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงบริเวณต่าง ๆ ทั่วร่างกายได้ดียิ่งขึ้น เกิดการกระตุ้นระบบเผาผลาญ ทำให้ร่างกายเกิดการใช้พลังงาน ทั่วร่างกายเกิดความอบอุ่นมากขึ้น เกิดการไหลเวียนเลือดไปยังบริเวณปลายมือ-ปลายเท้าได้ดีขึ้น จึงทำให้ปลายมือ-ปลายเท้า รวมถึงทั่วร่างกายอบอุ่นขึ้น
2. โดนแดดอ่อน ๆ จะเป็นการกระตุ้นร่างกาย โดยใช้พลังงานความร้อนจากสภาพแวดล้อมภายนอก ซึ่งเป็นอีกวิธีกระตุ้นร่างกายที่ได้ผลดีวิธีหนึ่ง แต่วิธีนี้จำเป็นต้องทำในช่วงเช้าตรู่ ที่มีแดดอ่อน ๆ เราจะไม่ทำตอนช่วงสาย บ่าย หรือเที่ยง เพราะแดดที่ประเทศไทยไม่ค่อยอ่อนโยนน่ารักสักเท่าไหร่นัก หากไปรับแดดผิดเวลา แทนที่อาการจะดีขึ้น อาจจะได้โรคใหม่จากรังสี UV มาแทนโดยไม่รู้ตัว
3. แช่เท้าด้วยน้ำอุ่น เป็นอีกวิธียอดนิยมที่ได้ผลดี ช่วยปรับสมดุลร่างกายได้มาก ไม่เฉพาะคนที่ “ปลายมือ-ปลายเท้าเย็น” เท่านั้น แต่โรคอื่น ๆ ก็สามารถช่วยปรับสมดุลได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากบริเวณใต้ฝ่าเท้า เป็นจุดที่รวบรวมเส้นประสาท ในทางแพทย์แผนจีนมองว่ามีความเชื่อมโยงไปถึงอวัยวะทั่วร่างกาย การแช่เท้าด้วยน้ำอุ่น จึงเป็นเหมือนการบำรุงอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกายให้ทำงานได้ดีมากยิ่งขึ้น โดยการแช่เท้าด้วยน้ำอุ่นนี้ แนะนำที่อุณหภูมิประมาณ 40 องศาเซลเซียส แช่สูงท่วมข้อเท้าเป็นเวลา 15-20 นาที โดยอาจใช้เป็นน้ำเปล่า หรือผสมขิงทุบ เพื่อเพิ่มฤทธิ์อุ่นให้มากขึ้นลงไปได้เช่นกัน
4. ดื่มชาสมุนไพร วันนี้หมอมีเครื่องดื่มสูตรลับ ที่คนขี้หนาวดื่มไปต้องรู้สึกฟินกันอย่างแน่นอน ซึ่งสมุนไพรพื้นฐานที่ส่วนใหญ่มีกันอยู่ในทุกบ้าน แต่ได้ผลดีเกินกว่าที่เราคาดคิด โดยสูตรนี้ใช้ส่วนประกอบเพียง 3 อย่างเท่านั้น คือ ขิง เก๋ากี้ (โกจิเบอร์รี่) น้ำตาลทรายแดง เริ่มจากการต้มขิงและโกจิเบอร์รี่ก่อนสักประมาณ 15 นาที หลังจากนั้นจึงใส่น้ำตาลทรายแดง เพื่อเพิ่มฤทธิ์อุ่นร้อนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม ดื่มทุกวัน ช่วงเช้า หรือหัวค่ำ เป็นประจำ จะทำให้อาการปลายมือปลายเท้าเย็นค่อย ๆ ดีขึ้นเรื่อย ๆ
อย่างไรก็ดี วิธีที่แนะนำในวันนี้ เป็นวิธีบรรเทาอาการในเบื้องต้นเท่านั้น หากต้องการรักษาแบบเฉพาะเจาะจง ถูกต้องตามสภาพร่างกายของแต่ละท่านจริง ๆ แนะนำให้มาตรวจกับแพทย์แผนจีน เพื่อเช็คสภาพร่างกายในปัจจุบันอีกครั้ง
ดังนั้น อาการ “ปลายมือ-ปลายเท้าเย็น” แม้จะเป็นโรคที่ไม่มีอันตรายเฉียบพลัน แต่กลับสร้างความทุกข์ทรมานให้กับหลาย ๆ คน บางท่านอาจจะเป็นแค่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่บางคนเป็นตลอดชั่วชีวิต
ขอบคุณบทความ: พจ.ณัฐธยาน์ เฮงอุดมสวัสดิ์ แผนกแพทย์แผนจีน โรงพยาบาลนวเวช
ข่าวแนะนำ