ชวนทำความรู้จัก "ยาเพร็พ (PREP) ยาเป็ป (PEP)" คืออะไร ใช้ต่างกันอย่างไร?
ชวนทำความรู้จัก "ยาเพร็พ (PREP) ยาเป็ป (PEP)" คืออะไร ใช้แตกต่างกันอย่างไร?
เชื่อว่าหลายๆคน คงเคยได้ยินคำว่า ยาเพร็พ กับ ยาเป็ป ใช่หรือไม่ แต่รู้ไหมว่ายาสองชนิดนี้คืออะไร ใช้แตกต่างกันอย่างไร? ในบทความนี้ จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับยาทั้งสองชนิดนี้ให้มากยิ่งขึ้นกัน
ยาเพร็พ (PrEP) คืออะไร?
คำว่า “เพร็พ (PrEP)” ย่อมาจาก Pre-Exposure Prophylaxis เป็นยาที่ใช้ในการป้องกันเชื้อเอชไอวี (HIV) ก่อนการสัมผัสโรค โดยยาชนิดนี้สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้สูงเกือบ 100% แต่ต้องเป็นผู้ที่รับประทานทุกวันเป็นประจำ และมีวินัยในการรับประทาน ซึ่งยาเพร็พ (PrEP) นี้ไม่มีความสามารถในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่น เริม หนองใน ได้
ใครควรกินยาเพร็พ (PrEP)?
ยาเพร็พ (PrEP) เหมาะสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อาการได้รับเชื้อเอชไอวีสูง ดังนี้
1. ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี
2. ผู้ที่มีคู่นอนหลายคน
3. ผู้ที่ทำงานบริการทางเพศ
4. ผู้ที่มาขอรับบริการ Post-Exposure Prophylaxis (PEP) อยู่เป็นประจำโดยไม่สามารถลดพฤติกรรมเสี่ยงลงได้
5. ผู้ที่ใช้สารเสพย์ติดชนิดฉีด
6. ผู้ที่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา
การเตรียมตัวสำหรับรับ เพร็พ (PrEP) ควรทำอย่างไร?
1. งดมีเพศสัมพันธ์ 2 สัปดาห์ก่อนมารับเพร็พ (PrEP)
2. ผู้ต้องการมารับบริการจะได้รับการตรวจเอชไอวี การทำงานของตับและไต
3. หลังจากรับยาเพร็พ (PrEP) ครั้งแรกจะต้องมีการนัดตรวจเลือด 1 เดือนหลังจากนั้น และต้องนัดตรวจเลือดทุกๆ 3 เดือน
4. ผู้มารับบริการต้องตรวจเลือดก่อนหยุดยาเพร็พ (PrEP) ทุกครั้ง
ยาเป็ป (PEP) คืออะไร?
คำว่า “เป็ป (PEP)” ย่อมาจาก Post-Exposure Prophylaxis เป็นยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ในกรณีฉุกเฉิน โดยวิธีการรับประทาน คือ ต้องรับประทานให้เร็วที่สุดหลังสัมผัสความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเอชไอวี หรือรับประทานภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีความเสี่ยง และติดต่อกันนาน 28 วัน ทั้งนี้ยาเป็ป (PEP) สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้มากถึง 80% แต่ต้องได้รับยาให้เร็วที่สุดและไม่ควรเกิน 72 ชั่วโมง เพราะยาจะมีประสิทธิภาพที่สูง
ใครควรกินยาเป็ป (PEP)?
ยาเป็ป (PEP) มีไว้สำหรับผู้ที่คาดว่ามีการสัมผัสเชื้อเอชไอวี มาภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ซึ่งจะใช้ในกรณีต่างๆ ดังนี้
1. มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่อาจมีเชื้อเอชไอวีและไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย
2. ขณะมีเพศสัมพันธ์ถุงยางอนามัยหลุดหรือฉีกขาด (ถุงแตก)
3. ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
4. ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
การเตรียมตัวสำหรับรับ เป็ป (PrEP) ควรทำอย่างไร?
1. ต้องเข้ารับการซักประวัติจากแพทย์ก่อน
2. จะต้องมีการตรวจหาเชื้อเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี การทำงานของตับและไตก่อนรับยาเป็ป (PEP)
3. หลังรับประทานยาครบ 28 วัน ต้องตรวจเอชไอวีซ้ำ 1 เดือน และ 3 เดือน
4. งดบริจาคเลือด
5. หากติดเชื้อ HIV อยู่ก่อนแล้ว จะไม่สามารถใช้ยาเป็ป (PEP) ได้
ที่มาข้อมูล : ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย (คลีนิคนิรนาม)
ที่มาภาพ : freepik/Racool_studio