10 วิธีป้องกัน "โรคอัลไซเมอร์ หรือ ความจำเสื่อม"
เปิด 10 วิธี ป้องกัน "โรคอัลไซเมอร์ หรือ ความจำเสื่อม" ทำได้ไม่ยาก และ อาการแบบไหนเป็นสมองเสื่อม?
เปิด 10 วิธี ป้องกัน "โรคอัลไซเมอร์ หรือ ความจำเสื่อม" ทำได้ไม่ยาก และ อาการแบบไหนเป็นสมองเสื่อม?
อัลไซเมอร์ เป็นหนึ่งในโรคที่เกิดจากความเสื่อมถอยของการทำงานหรือโครงสร้างของเนื้อเยื่อของสมองซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ โดยไม่ใช่ความเสื่อมตามธรรมชาติเพราะผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องเป็นอัลไซเมอร์ทุกคน แต่เป็นความเสื่อมที่เกิดจากโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เบต้า-อะไมลอยด์ (beta-amyloid) ชนิดไม่ละลายน้ำซึ่งเมื่อไปจับกับเซลล์สมองจะส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อมและฝ่อลง รวมถึงทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์สมองเสียหายจากการลดลงของสารอะซีติลโคลีน (acetylcholine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ส่งผลโดยตรงกับความทรงจำ
การสะสมของเบต้า-อะไมลอยด์ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองค่อยๆ ลดลง เริ่มจากสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ที่มีบทบาทสำคัญในการจดจำข้อมูลใหม่ๆ เมื่อเซลล์สมองส่วนนี้ถูกทำลาย ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาเรื่องความจำโดยเฉพาะความจำระยะสั้น จากนั้นความเสียหายที่เกิดขึ้นจะแพร่กระจายไปสู่สมองส่วนอื่นๆ และส่งผลต่อการเรียนรู้ ความรู้สึกนึกคิด ภาษา และพฤติกรรม
วิธีดูแลตนเองเพื่อป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์
-บริหารสมองหรือทำกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาสมอง พบปะผู้คนและมีกิจกรรมทางสังคมที่มากกว่าการใช้สื่อออนไลน์ และคอยดูแลสุขภาพจิต ไม่เครียด ลดโอกาสเกิดภาวะซึมเศร้า
-ออกกำลังกายต่อเนื่องและสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที
-ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อเฝ้าระวังโรคประจำตัวที่อาจเกิดขึ้นใหม่ รวมถึงควบคุมโรคประจำตัวที่เป็นอยู่เดิม โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ความดันสูง และไขมันในเลือดสูง
-ตรวจสุขภาพประจำปี รักษาและควบคุมโรคประจำตัวที่เป็นอยู่
-รับประทานอาหารสายสุขภาพให้ครบ 5 หมู่ ควบคุมน้ำหนัก ไม่ให้อ้วน ให้มีดัชนีมวลกาย ไม่เกิน 30
-หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติด สุรา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่
-นอนหลับพักผ่อนให้มีคุณภาพการนอนที่ดี
-ฝึกสมาธิตามแนวพุทธศาสนา หรือตามแนวทางอื่น ๆ ที่ถนัด
-เลี่ยงมลพิษทางอากาศ PM 2.5 ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย หรือใช้เครื่องกรองอากาศ
-ระวังอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบต่อสมอง ทั้งในวัยหนุ่มสาวและผู้สูงอายุ ระวังเรื่องการหกล้มในผู้สูงอายุ เพราะอาจทำให้ศีรษะได้รับความกระทบกระเทือน
-ดูแลหูและการได้ยิน หากมีอาการหูตึง ควรใส่เครื่องช่วยฟัง
อาการแบบไหนเป็นสมองเสื่อม?
กรณีผู้ป่วยมีอาการที่เข้าข่ายโรคอัลไซเมอร์มาระยะหนึ่ง หรือเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน อาจสงสัยว่าอาการที่เป็นอยู่ปัจจุบันเข้าข่ายภาวะสมองเสื่อมแล้วหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้จากอาการเหล่านี้
-ความเข้าใจภาษาลดลง ใช้ภาษาไม่ถูกต้อง เรียกชื่อสิ่งของไม่ถูก อาจหยุดพูดกลางคันและไม่รู้ว่าจะต้องพูดอะไรต่อ หรือพูดย้ำกับตัวเอง รวมถึงอาจพูดน้อยลง
-สับสนเรื่องเวลาหรือสถานที่ อาจลืมว่าตอนนี้ตนอยู่ที่ใดและเดินทางมายังสถานที่นั้นได้อย่างไร
-ไม่สามารถทำกิจกรรมที่เคยทำได้มาก่อน เช่น ลืมวิธีการเปลี่ยนช่องทีวี
-บกพร่องในการรับรู้หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่ทราบว่าของสิ่งนี้มีไว้ทำอะไร หรือไม่สามารถแยกแยะรสชาติหรือกลิ่นได้
-บกพร่องในการบริหารจัดการ และตัดสินใจแก้ไขปัญหา ไม่กล้าตัดสินใจหรือตัดสินใจผิดพลาดบ่อย ๆ
-บกพร่องในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น อาบน้ำ แต่งตัว ไม่สามารถไปไหนตามลำพังได้
-บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง เช่น ซึมเศร้า เฉื่อยชา โมโหฉุนเฉียวง่ายโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน เห็นภาพหลอน หวาดระแวง
ขอบคุณที่มา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ / โรงพยาบาลจุฬาฯ / โรงพยาบาลนครธน
ภาพจาก AFP