RSV ระบาดหนัก! หมอมนูญ เผยเคสผู้สูงอายุติดเชื้อ ปอดมีฝ้าขาว
"หมอมนูญ" เผยเคสผู้สูงอายุป่วย "ติดเชื้อ RSV" เตือนเด็กส่วนใหญ่หายเร็ว บางคนอาจป่วยหนักถึงขั้นเข้าโรงพยาบาล
"หมอมนูญ" เผยเคสผู้สูงอายุป่วย "ติดเชื้อ RSV" เตือนเด็กส่วนใหญ่หายเร็ว บางคนอาจป่วยหนักถึงขั้นเข้าโรงพยาบาล
พ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความเกี่ยวกับผู้ป่วยสูงอายุ
โดยระบุข้อความว่า "ผู้ป่วยหญิงอายุ 74 ปี มีไข้ ไอ เสมหะขาวขุ่น เหนื่อย 5 วัน มีโรคประจำตัวหอบหืด ในบ้านมีหลาน 2 คน อายุ 4 ขวบและ 1 ขวบ เป็นหวัด ไอ หลานทั้ง 2 คนอาการดีขึ้นแล้ว เพื่อนๆของหลานหลายคนที่เป็นหวัดไปตรวจ หมอบอกว่าติดเชื้อ RSV มาพบแพทย์วันที่ 1 กันยายน 2566
ตรวจร่างกาย ไม่มีไข้ วัดระดับออกซิเจนได้ 95% ฟังปอดมีเสียงวี๊ดๆทั้ง 2 ข้าง เอกซเรย์ปอดมีฝ้าขาวที่ปอดขวาด้านล่าง แยงจมูกส่งตรวจหาไวรัสโควิด-19 ไข้หวัดใหญ่ และ RSV เชื้อไวรัสซึ่งกำลังแพร่ระบาดในขณะนี้ พบเชื้อ RSV
วินิจฉัย หลอดลมและปอดอักเสบจากเชื้อ RSV ให้ยาเสตียรอยด์ ยาขยายหลอดลม และยาปฏิชีวนะไปกินและพ่นที่บ้าน 1 สัปดาห์ ติดตาม 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยดีขึ้น ไม่มีไข้ ไม่ไอ ไม่เหนื่อยแล้ว ฟังปอดปกติ เอกซเรย์ปอดเกือบปกติ
ช่วงนี้มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส RSV ในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เด็กส่วนใหญ่หายเร็ว ไม่มียารักษาเชื้อ RSV รักษาตามอาการ
คนสูงอายุ คนที่มีโรคประจำตัว ติดเชื้อไวรัส RSV จากเด็กเล็กในบ้าน บางคนอาจป่วยหนักถึงขั้นเข้าโรงพยาบาล หายใจลำบาก มีหลอดลมอุดกั้นหายใจเสียงดังวี๊ดๆได้ มีปอดอักเสบอย่างผู้ป่วยรายนี้ ในอนาคตอันใกล้จะมีวัคซีนตัวใหม่ป้องกันไวรัส RSV สำหรับคนสูงอายุ 60 ปีขึ้นไปผลิตโดยบริษัทไฟเซอร์และ GSK"
อาการติดเชื้อของเชื้อไวรัส RSV
สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส RSV มักมีอาการ 4-6 วัน หลังได้รับเชื้อ อาการโดยทั่วไปคล้ายไข้หวัดธรรมดา มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ปวดศีรษะ หากพบว่าเชื้อลงไปสู่ระบบหายใจส่วนล่าง ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรง หายใจเร็ว หอบเหนื่อย ไอรุนแรง ทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบบางรายรุนแรงเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้
โรคชนิดนี้เกิดได้หลายช่วงอายุ แต่ในวัยผู้ใหญ่พบว่าจะมีอาการไม่รุนแรง และจะเกิดอาการที่รุนแรงในผู้ป่วยเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 15 ปี มีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ หรือปอด หรือผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ เป็นต้น
การตรวจรักษาผู้ป่วย
สำหรับการตรวจรักษาในผู้ป่วยที่พบว่ามีอาการบ่งชี้แพทย์จะทำการตรวจหาเชื้อไวรัส RSV จากสารคัดหลั่งในจมูก การรักษาโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน และไม่มียารักษา แพทย์จะดำเนินการรักษาตามอาการของผู้ป่วย แต่หากพบว่าอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการรุนแรงต้องรีบไป พบแพทย์ทันที
วิธีป้องกัน
เพื่อป้องกันการติดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากไวรัส RSV เราควรดูแลตัวเอง ด้วยการหลีกเลี่ยงไปในที่ชุมชนแออัด รักษาความอบอุ่นให้แก่ร่างกายในช่วงอากาศเย็น หมั่นทำความสะอาดเครื่องใช้และ อุปกรณ์ภายในบ้านที่สัมผัสบ่อยๆ เช่น ลูกบิด ราวบันได รีโมท รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ และใช้ช้อนกลางเมื่อต้องรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์
ทุกคนในบ้านควรชำระร่างกายให้สะอาด เพื่อลดความเสี่ยงการเป็นพาหะนำเชื้อโรคมาแพร่กระจายให้บุคคลภายในบ้าน และควรใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ หากเรารู้จักป้องกันตนเอง เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถลดโอกาสของการติดเชื้อจากโรคทางเดินหายใจได้
ที่มา หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC / กรมการแพทย์
ภาพจาก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC / กรมการแพทย์