“เบาหวานลงไต” ห่วงคนไทยป่วยมากขึ้น สาเหตุหลักเกิด "ภาวะไตวาย"
แพทย์ห่วงคนไทยเป็นเบาหวานลงไตเพิ่มขึ้น สาเหตุหลักภาวะไตวาย เสี่ยง 2 เท่า เป็นโรคหัวใจ-หลอดเลือด
เวทีเสวนาหัวข้อ “New Frontiers in Chronic Kidney Disease and Type 2 Diabetes : โรคไตเรื้อรังในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2” โดยศ.คลินิก นพ. ชัยชาญ ดีโรจนวงศ์ นายกสมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย ระบุว่า โรคเบาหวาน คือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของการควบคุมน้ำตาลในร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ โรคเบาหวานสามารถส่งผลกระทบต่อหลายอวัยวะและนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนจากโรค รวมถึงโรคไตเรื้อรัง และเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่นำไปสู่ภาวะไตวาย ระยะสุดท้ายที่ต้องได้รับการฟอกเลือดหรือปลูกถ่ายไต
โรคเบาหวานในประเทศกำลังพัฒนา ความชุกของภาวะไตวายในผู้ป่วยโรคเบาหวานสูงกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน 10 เท่า สำหรับประเทศไทยมีผู้ป่วยจำนวน 6.1 ล้านคน ที่เป็นโรคเบาหวาน โดยที่ ร้อยละ42.9 ของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 มีภาวะไข่ขาวหรือโปรตีนในปัสสาวะสูง และ ร้อยละ 6 ของผู้ป่วยเบาหวานชนิด 2 มีการลุกลามของโรค จนทำให้ต้องฟอกเลือด ส่งผลให้อัตราการป่วยและอัตราการเสียชีวิตสูง ร้อยละ 25% ของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง จะเกิดภาวะไตวายในปีที่ 10 และ ร้อยละ49มีแนวโน้มการเสียชีวิตในปีที่ 1
ขณะที่ ศ.นพ. รุ่งโรจน์ กฤตยพงษ์ ประธานชมรมหัวใจล้มเหลวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้น 2 ถึง 4 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน และมีความเสี่ยงในการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายในอนาคตเท่ากับคนที่เคยมีประวัติกล้ามเนื้อหัวใจตาย แต่ไม่เป็นเบาหวาน นอกจากนี้เป็นกลุ่มที่จะเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า
สำหรับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคไตเรื้อรัง มักอยู่ร่วมกันและมีความสัมพันธ์กับผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ไม่พึงประสงค์ มีข้อมูลอุบัติการณ์สะสมใน 10 ปี พบว่าอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้นประมาณ 6 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรือ โรคไตเรื้อรัง
ด้านนพ. วุฒิเดช โอภาศเจริญสุข นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ย้ำว่าหนึ่งในสาเหตุของโรคไตที่พบได้บ่อยที่สุดมาจากเบาหวาน 1 ใน 3 เป็นโรคไตเรื้อรัง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะถูกวินิจฉัยเมื่อโรคเกิดการลุกลามไปแล้ว จึงอยากให้ผู้ป่วยเบาหวานตระหนัก และสังเกตสัญญาณของโรค ระยะแรกจะไม่มีอาการเลย หรือมีอาการเล็กน้อย เช่น ความดันโลหิตสูงมากขึ้น ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ปัสสาวะเป็นฟอง เป็นต้น หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา จะทำให้โรคลุกลามจากการเสื่อมของไต จนนำไปสู่ไตวาย
แนวทางการรักษาเพื่อชะลอการลุกลามของภาวะไตวาย สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีภาวะไตเรื้อรังด้วยนั้น ปัจจุบันมีแนวทางใหม่ในการรักษาด้วยยา เพื่อชะลอความเสื่อมของไต ซึ่งมียาหลายกลุ่ม ที่จะช่วยยับยั้ง เป็นวิธีการรักษาใหม่ สามารถชะลอการลุกลามของโรคไตเรื้อรัง ลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะไตวายของผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเนื่องจากโรคไตเรื้อรัง
ภาพจาก : AFP