TNN สำลักอาหาร มีอาการอย่างไร? แนะวิธีป้องกัน

TNN

Health

สำลักอาหาร มีอาการอย่างไร? แนะวิธีป้องกัน

สำลักอาหาร มีอาการอย่างไร? แนะวิธีป้องกัน

สำลักอาหาร มีอาการอย่างไร? แนะวิธีป้องกัน เตือนเป็นเรื่องใกล้ตัว ถ้าไม่ระวังอาจอันตรายถึงชีวิต

สำลักอาหาร มีอาการอย่างไร? แนะวิธีป้องกัน เตือนเป็นเรื่องใกล้ตัว ถ้าไม่ระวังอาจอันตรายถึงชีวิต


การสำลักอาหาร ภาวะการสำลักอาหาร คือการที่มีเศษอาหารหรือน้ำ (Food particle) หลังกลืนอาหารหล่นเข้าไปอยู่ในหลอดลม ซึ่งจะทำให้เกิดอาการไอติดต่อกันหลายๆครั้งเพื่อขับดันให้เศษอาหารนั้นหลุดออกไปจากหลอดลม


ปกติแล้วเมื่อเกิดกระบวนการกลืนอาหารขึ้น โคนลิ้นจะผลักอาหารให้เข้าไปอยู่ในคอหอยจากนั้นฝาปิดกล่องเสียงจะเคลื่อนตัวลงมาปิดทางเข้าของกล่องเสียงรวมทั้งสายเสียงทั้ง 2 ข้างจะเคลื่อนตัวมาชิดกันเพื่อปิดทางเข้าของหลอดลมทำให้อาหารที่กำลังจะเคลื่อนตัวผ่านลงไปในทางเข้าของหลอดอาหารนั้น ไม่สามารถหลุดเข้าไปในหลอดลมได้ จึงไม่เกิดการสำลักขึ้นซึ่งการสำลักอาหารนั้นจึงเกิดได้จากสาเหตุต่างๆ ดังนี้

1. คนที่พูดในขณะรับประทานอาหาร หรือในขณะกลืนอาหารนั้น ฝาปิดกล่องเสียงและสายเสียงจะเปิดออกเพื่อให้เกิดเสียงพูด อาหารจึงตกลงไปในหลอดลมและเกิดการสำลักขึ้นได้

2. ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดบริเวณคอหอย เช่นผ่าตัดโคนลิ้น ผ่าตัดมะเร็งคอหอย ผ่าตัดมะเร็งกล่องเสียงจะทำให้การทำงานของอวัยวะเหล่านี้ทำงานได้ไม่สมบูรณ์ จึงเกิดการสำลักขึ้น

3. ผู้ป่วยที่สายเสียงเป็นอัมพาตขยับและทำงานไม่ได้ก็จะเกิดการสำลักอาหารและน้ำ รวมทั้งมีอาการเสียงแหบร่วมด้วย

4. ผู้ป่วยที่ได้รับการฉายแสงบริเวณลำคอ บางครั้งจะเกิดการบวมของเนื้อเยื่อในคอได้ และเกิดการสำลักอาหารได้เช่นกัน

5. ผู้ป่วยที่ได้รับการดมยาสลบมีการใส่ท่อช่วยหายใจ บางครั้งจะทำให้สายเสียงบวมและทำงานผิดปกติไปได้ จึงเกิดภาวะเสียงแหบและการสำลักอาหารขึ้นได้



อาการที่มองไม่เห็นจากสำลักเงียบ

เนื่องจากการสำลักเงียบไม่มีอาการแสดงให้เห็น ทำให้ผู้ป่วยรวมถึงผู้ดูแลขาดความระมัดระวังและไม่ทราบว่ามีการสำลักอาหารหรือน้ำดื่มลงในทางเดินหายใจ จนเกิดภาวะแทรกซ้อน มีความผิดปกติให้เห็นรุนแรง เช่น ภาวะปอดอักเสบติดเชื้อ (Aspiration pneumonia) ซึ่งนำไปสู่อันตรายถึงแก่ชีวิตได้

นอกจากนี้ภาวะสำลักเงียบอาจไม่สามารถพบจากการตรวจประเมินทางคลินิกได้ เนื่องจากไม่แสดงอาการขณะทำการตรวจคัดกรองและการตรวจร่างกาย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องได้รับประเมินจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยการกลืนแป้งทางรังสีหรือการส่องกล้องเพื่อตรวจหาว่าผู้ป่วยมีภาวะสำลักเงียบหรือไม่และทำการป้องกันรักษาได้ทันท่วงที

กรณีผู้ป่วยมีการสำลักเงียบจนเกิดภาวะหลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบติดเชื้อ อาจมีอาการดังต่อไปนี้

-มีไข้ ไอมีเสมหะ
-หายใจลำบากหรือหอบเหนื่อย
-เจ็บแน่นหน้าอก
-ซึมลง

ซึ่งเมื่อพบสัญญาณเหล่านี้ต้องหยุดป้อนอาหารทางปากและพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทัน



อาการแสดงและอาการสำลักอาหาร


-ไม่สามารถกลืนได้หรือใช้เวลานานกว่าปกติ (ปกติใช้เวลาประมาณ 1 วินาที)


-ไอหรือสำลักขณะดื่มน้ำหรือนานกว่า 1 นาทีจึงจะแสดงอาการ


-มีเสียงครืดคราดในลำคอหลังการดื่มน้ำ


-หลังดื่มน้ำแล้วยังคงมีน้ำเหลือค้างในช่องปากหรือกระพุ้งแก้ม


-ไม่สามารถกลืนน้ำได้


-ไม่สามารถควบคุมน้ำลายไม่ให้ไหลออกจากปากได้



อาการ การสำลักสิ่งแปลกปลอมตกเข้าไปติดอยู่ในทางเดินหายใจ ทำให้เกิดการอุดกั้น


-ชี้ไปที่คอ หรือเอามือกุมรอบคอ


-พูดไม่ออก


-หายใจลำบาก หายใจมีเสียงดัง


-ไอไม่มีเสียง ขย้อน


-ผิวหน้าซีด เขียว


-อาจชัก หรือหมดสติ ถ้าขาดอากาศนาน



การป้องกันการสำลักอาหาร

-จัดท่าทางในการรับประทานอาหาร โดยนั่งตัวตรงบนเก้าอี้ หลีกเลี่ยงท่านอน ในกรณีผู้ป่วยติดเตียงให้ยกศีรษะผู้ป่วยขึ้นอย่างน้อย 60-90 องศา เพื่อป้องกันการสำลักเข้าปอด และไม่ควรนอนทันทีหลังรับประทานอาหารทุกมื้อ


-ก้มหน้าเล็กน้อยขณะกำลังกลืนอาหาร ซึ่งเป็นท่าที่เหมาะสมในการป้องกันการสำลักในผู้ที่มีภาวะกลืนลำบาก


-รับประทานอาหารคำเล็กหรือพอดีคำ ไม่ใหญ่เกินไป เคี้ยวอาหารอย่างช้าๆ ให้ละเอียดที่สุดก่อนกลืน


-ตั้งใจกลืนอาหาร ไม่คุยกันระหว่างรับประทานอาหารหรือไม่ควรหัวเราะขณะรับประทานอาหาร


-ไม่รีบเร่งในการรับประทานอาหาร ให้เวลากับมื้ออาหารอย่างเพียงพอ หากจำเป็นต้องป้อนอาหาร ควรป้อนอาหารให้ผู้ป่วยด้วยความเร็วที่เหมาะสม โดยสังเกตว่าผู้ป่วยกลืนอาหารในปากแล้วจึงป้อนอาหารช้อนต่อไป และตักอาหารให้พอดีกับที่ผู้ป่วยสามารถเคี้ยวได้


-ไม่ควรรับประทานอาหารขณะรู้สึกเหนื่อย เพราะอาจทำให้เกิดการสำลักได้


-สามารถรับประทานอาหารสลับกัน เช่น อาหารที่บดเคี้ยวสลับกับอาหารเหลว


-หลีกเลี่ยงอาหารที่เหนียว เคี้ยวยาก เนื่องจากอาจทำให้ติดคอ ถ้าอาหารชิ้นใหญ่ควรทำการหั่นซอยก่อน


-ปรุงอาหารให้มีลักษณะอ่อนนิ่ม หั่นเนื้อสัตว์ให้เล็กที่สุด หากเป็นผักก็หั่นให้เล็กลงและต้มให้นิ่ม


-เลือกระดับความหนืดของอาหารให้เหมาะสมกับความสามารถในการรับประทาน เช่น ในบางรายอาจสามารถกลืนอาหารที่มีความหนืดข้นได้ดีกว่าอาหารเหลว หากผู้ป่วยมีภาวะกลืนลำบากอาจทำการปรับลักษณะของอาหารและน้ำให้เหมาะสม โดยอาจใช้สารเพิ่มความหนืดใส่ลงในอาหารและของเหลวต่างๆ เพื่อช่วยลดโอกาสสำลัก


-อย่ารับประทานอาหารแห้งเกินไป ควรมีน้ำซอสหรือน้ำซุป เพื่อช่วยให้เนื้ออาหารชุ่มและนุ่มขึ้น


-จัดสิ่งแวดล้อมให้เงียบสงบและลดสิ่งรบกวนขณะรับประทานอาหาร เช่น การพูดคุย การดูโทรทัศน์


-ดูแลทำความสะอาดช่องปากทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร เพื่อช่วยลดการสะสมของแบคทีเรียในช่องปาก ซึ่งจะช่วยป้องกันการติดเชื้อจากการสำลักได้








ที่มา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ / โรงพยาบาลกรุงเทพ / โรงพยาบาลสมิติเวช / ศูนย์ฝึกอบรมปฐมพยาบาลและสุขภาพอานามัย

ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ