TNN "สำลักอาหาร" อันตรายถึงชีวิต! สำลักบ่อยแค่ไหน ต้องพบแพทย์

TNN

Health

"สำลักอาหาร" อันตรายถึงชีวิต! สำลักบ่อยแค่ไหน ต้องพบแพทย์

สำลักอาหาร อันตรายถึงชีวิต! สำลักบ่อยแค่ไหน ต้องพบแพทย์

"สำลักอาหาร" เรื่องใกล้ตัวอย่าประมาทอันตรายถึงชีวิต! สำลักบ่อยแค่ไหน หรือมีอาการแบบไหน ที่ต้องมาพบแพทย์

"สำลักอาหาร" เรื่องใกล้ตัวอย่าประมาทอันตรายถึงชีวิต!  สำลักบ่อยแค่ไหน หรือมีอาการแบบไหน ที่ต้องมาพบแพทย์


การสำลัก หมายถึง การหายใจเข้าแล้วมีสิ่งแปลกปลอมหลุดผ่านเข้าไปในหลอดลมและทางเดินหายใจส่วนล่าง อาการแสดงที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจอาจเกิดขึ้นภายหลังการสำลัก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณ ของที่สำลักเป็นของแข็ง เศษอาหาร ของเหลว น้ำ หรือน้ำมันหรือกรดจากกระเพาะอาหาร ลักษณะค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ของสิ่งแปลกปลอม ความถี่ของการสำลัก และการตอบสนองของสิ่งแปลกปลอมนั้น


ผู้ที่เสี่ยงต่อการสำลัก


-ผู้สูงอายุ


-ผู้ที่มีประวัติผ่าตัดบริเวณคอหอย เช่น ผ่าตัดโคนลิ้น ผ่าตัดมะเร็งคอหอย ผ่าตัดมะเร็งกล่องเสียง


-ผู้ที่มีความผิดปกติระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เช่น ภาวะกลืนลำบาก


-ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดบริเวณใบหน้าและลำคอ ผู้ป่วยที่ได้รับการฉายแสง ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ


-ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โรคอัลไซเมอร์ พาร์กินสัน ปลอกประสาทอักเสบ บาดเจ็บไขสันหลัง ผู้ป่วยที่ได้รับยาระงับความรู้สึก


-ผู้ที่มีความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลงจากการดื่มแอลกอฮอล์หรือการได้รับยาคลายเครียด (anxiolytics)



“สำลัก” ในผู้สูงอายุ ก็อาจเสียชีวิตได้

ผู้สูงอายุเป็นวัยที่ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานช้าลง ระบบภูมิคุ้มกันเริ่มไม่แข็งแรงเหมือนเดิมเรื่องเล็กๆ แค่สำลักก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ เช่น หากสำลักอาหารเข้าไปในปอดอาจส่งผลทำให้ปอดติดเชื้อ หรือผู้สูงอายุบางรายสำลักมากๆ จน เกิดความกลัวการกลืนอาหาร ไม่ยอมรับประทานข้าว นำไปสู่ปัญหาภาวะขาดสารอาหาร รวมถึงคนไข้บางโรคที่มักสำลักน้ำลายหรือเสมหะ แล้วเข้าไปอุดกลั้นทางเดินหายใจ จนเกิดอาการหายใจล้มเหลวได้ 


ดังนั้นอย่าปล่อยให้ แค่ “สำลัก” ในผู้สูงอายุ เกิดขึ้นบ่อยจนกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง ทำลายทั้งสุขภาพโดยรวม ทำให้เกิดความเสี่ยงการเจ็บป่วยที่รุนแรงตามมา



ภาวะกลืนลำบากในผู้สูงอายุคืออะไร

การกลืนลำบากมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ

-กลืนติด มักจะใช้กับสิ่งที่เป็นของแข็งมากกว่า เช่น กินข้าวแล้วติดคอ


-กลืนสำลัก จะเป็นพวกอาหารเหลว น้ำ กลืนแล้วก็มีการสำลัก หรือไอออกมา


สาเหตุสำคัญการกลืนลำบาก

ภาวะกลืนลำบากเริ่มตั้งแต่ในช่องปาก บางคนฟันไม่มี ต้องใส่ฟันปลอม บางคนเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ปากเบี้ยว ลิ้นแข็ง หรือป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน ทำให้การรับรู้ต่างๆ ของหลอดอาหารผิดปกติไป ทำให้เกิดภาวะสำลัก หรือสำลักเงียบได้ หรือการมีเนื้องอก มีก้อนเนื้อต่างๆ อยู่ตามหลอดอาหาร หรือยาวไปจนถึงกระเพาะอาหาร ทำเกิดการกลืนติด กลืนลำบากได้ ซึ่งแต่ละสาเหตุต้องแยกกัน 


โดยภาวะกลืนติด กลืนลำบากของแต่ละสาเหตุนั้น จะแสดงออกมาไม่เหมือนกัน บางสาเหตุมักจะกลืนติดของแข็งก่อน บางสาเหตุก็อาจจะกลืนติดของเหลวก่อน ซึ่งแพทย์จะประเมินหาสาเหตุ แล้วจึงหาทางรักษาแก้ไข



สำลักเงียบอันตรายอย่างไร

ในคนหนุ่มสาวมักจะไม่ค่อยเจอ แต่จะเจอบ่อยในผู้สูงอายุ เช่น บางคนกินลูกชิ้นเข้าไปหรือกินน้ำเข้าไป พอกลืนเข้าไป ร่างกายจะมีปฏิกิริยาตอบโต้อยู่ที่คอ มีระบบรับรู้ความรู้สึกอยู่ที่คอ ร่างกายจะไอขับออกมา เพื่อไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นลงไปที่หลอดลมหรือไปอุดกลั้นทางเดินหายใจ แต่ในผู้สูงอายุหลายๆ กลุ่มที่เป็นโรคบางอย่างนั้น พอระบบรับรู้ความรู้สึกเหล่านี้สูญเสียไป บางคนกินลูกชิ้นเข้าไป ลูกชิ้นหลุดเข้าไปในหลอดลมแล้วยังไม่รู้ตัวเลย ไม่มีการไอออก ไม่มีการสำลักออก ซึ่งเสี่ยงมากต่อการเสียชีวิต



สำลักบ่อยแค่ไหน หรือมีอาการแบบไหน ที่ต้องมาพบแพทย์

-เกิดการสำลักทุกครั้ง หรือเกือบทุกครั้งที่รับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำ


-เกิดการสำลักจนทำให้ หน้าแดง มีอาการไอ หรือหอบรุนแรง หรือมีอาการทางเดินหายใจอุดกั้น


-เคยมีประวัติการติดเชื้อจากการสำลักมาแล้ว


-สำลักจนกระทั่งรับประทานอาหารได้น้อย น้ำหนักลดลง


-การสำลักในผู้เป็นโรคกลุ่มเสี่ยง เช่น พากินสัน อัมพฤกษ์ อัมพาต สมองเสื่อม


จะรู้ได้อย่างไรว่าระดับการสำลักรุนแรงหรือไม่

ระดับความรุนแรงของการสำลัก สามารถทำได้โดยการตรวจ Dysphagia videofluoroscopy โดยแพทย์จะส่องกล้องเข้าไปช่วงคอหอยและให้คนไข้ทำการกลืนเพื่อดูลักษณะการกลืน จังหวะการกลืน และการไหลย้อนของอาหารหากการสำลักเกิดขึ้นมากกว่า 10% ของการกลืนทั้งหมดแสดงว่าคนไข้อยู่ในขั้นสำลักรุนแรง และถ้ามีการสำลักจนกระทั่งฝาปิดกล่องเสียงไม่ปิด สำลักจนอาหารเข้าไปในหลอดลม ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น






ขอบคุณที่มา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ / โรงพยาบาลสมิติเวช / โรงพยาบาลนครธน
ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ