TNN วัณโรค ติดต่อทางไหน? เช็กกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวัง ควรตรวจคัดกรอง

TNN

Health

วัณโรค ติดต่อทางไหน? เช็กกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวัง ควรตรวจคัดกรอง

วัณโรค ติดต่อทางไหน? เช็กกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวัง ควรตรวจคัดกรอง

วัณโรค (Tuberculosis) ติดต่อทางไหน? สาเหตุเกิดจากอะไร เช็กกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวัง และควรเข้ารับการตรวจคัดกรองความเสี่ยง

วัณโรค (Tuberculosis) ติดต่อทางไหน? สาเหตุเกิดจากอะไร เช็กกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวัง และควรเข้ารับการตรวจคัดกรองความเสี่ยง


วัณโรค (Tuberculosis) เป็นโรคติดต่อที่พบว่าเป็น 1 ใน 10 ของสาเหตุการเสียชีวิตในคนทั่วโลก วัณโรคเกิดจากเชื้อ Mycobacterium tuberculosis ซึ่งไม่เพียงทำให้เกิดวัณโรคปอด แต่ยังส่งผลให้เกิดวัณโรคกับอวัยวะต่างๆ ในร่างกายได้ เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระดูกสันหลัง ข้อ ลำไส้ เยื่อหุ้มสมอง เป็นต้น โชคดีที่ว่าวัณโรคสามารถรักษาให้หายได้หากผู้ป่วยรับประทานยาอย่างต่อเนื่องและเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็ว



เชื้อวัณโรคติดต่อทางไหน?

เชื้อวัณโรค เข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจรับเชื้อโรคที่ปะปนอยู่ในอากาศ ขณะที่ผู้ป่วยไอ จาม บ้วนน้ำลาย หรือขากเสมหะ เชื้อวัณโรคจะกระทบไปในอากาศหรือกระจายอยู่ตามวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ดังนั้น สมาชิกในครอบครัว ผู้ร่วมอาศัย รวมถึงเพื่อนร่วมงานที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคเอดส์ ควรระมัดระวัง และรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองวัณโรคว่าได้รับเชื้อหรือมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน?



สาเหตุของวัณโรคปอด

โดยทั่วไปแล้ว วัณโรคปอดมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis ที่ทำให้เกิดโรค ที่รับผ่านกันมาจากละอองฝอยทางอากาศ วัณโรคเป็นโรคติดต่อ แต่ก็ไม่ได้ติดกันง่าย ๆ ซึ่งหมายความว่า ผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะติดโรคจากคนใกล้ชิดหรือคนที่ทํางานด้วยกัน ไม่ใช่คนแปลกหน้า อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีเชื้อเอชไอวีหรือเอดส์จะได้รับเชื้อและเกิดวัณโรคง่ายกว่าคนทั่วไป เนื่องจากมีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ นอกจากนี้ เชื้อวัณโรคบางชนิดมีการดื้อยา โดยเฉพาะกลุ่มยาไอโซไนอาซิดและไรแฟมพิซิน


วัณโรคป้องกันได้

-เราสามารถป้องกันตนเองจากวัณโรคได้ด้วยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อให้ภูมิต้านทานแข็งแรงต่อสู้กับเชื้อได้


-หากต้องเข้าไปในสถานที่แออัด หรือมีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัย


-ผู้ที่มีอาการไอหรืออาการระบบทางเดินหายใจ ควรสวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัด


-หากมีอาการผิดปกติที่สงสัยวัณโรค หรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจเพิ่มเติม


สัญญาณเตือนวัณโรค

-อ่อนเพลีย


-เบื่ออาหาร


-น้ำหนักลด


-มีไข้ต่ำ ๆ


-มีเหงื่อออกตอนกลางคืน


-ในระยะแรกจะมีอาการไอแห้ง ๆ ต่อมาจะไอมีเสมหะ และไอมากยิ่งขึ้นเวลาเข้านอน ตื่นนอนตอนเช้า หรือหลังอาหาร อาการไอเรื้อรังอาจเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือน


-ผู้ที่เป็นมาก ๆ อาจจะจะไอแล้วมีอาการหอบร่วมด้วย หรือไอแล้วมีก้อนเลือดสีดำ หรือแดงออกมา


-บางรายอาจมีอาการแน่น หรือเจ็บหน้าอก แต่ไม่มีอาการไอ กรณีนี้มักจะเกิดจากการตรวจพบโดยบังเอิญ จากการเห็นจุดในปอดด้วยการเอกซ์เรย์ปอด



กลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวัง และควรเข้ารับการตรวจคัดกรองความเสี่ยงวัณโรค

-ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค


-ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่แข็งแรง เช่น โรคไต เบาหวาน ผู้ที่ติดเชื้อ HIV (ผู้ป่วยโรคเอดส์) หรือคนไข้ที่ได้รับเคมีบำบัด


-ผู้ที่ขาดสารอาหาร หรือมีภาวะโภชนาการไม่ดี เช่น ผอมกว่ามาตรฐาน หรืออ้วนเกินมาตรฐาน


-ผุ้ที่มีประวัติเคยป่วยเป็นโรคปอด ซึ่งกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่เสี่ยงมาก เพราะหากได้รับเชื้อจะมีอาการทรุดหนักทันที


-ผู้ที่สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ


-คนที่อาศัยอยู่ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เช่น ผู้ต้องขัง


-ผู้ที่ทำงานในสายงานที่ต้องอยู่กับฝุ่นหรือมลภาวะ จะกระตุ้นให้เกิดวัณโรคได้ง่าย เช่นผู้ที่ทำงานเหมืองแร่ คนงานก่อสร้าง หรือผู้ที่ขับขี่รถโดยสารสาธารณะต่าง ๆ


-ผู้ที่ติดสารเสพติดชนิดฉีด


-เด็ก หากวัณโรคเกิดขึ้นกับเด็ก อาการมักจะรุนแรงกว่าผู้ใหญ่ เพราะภูมิคุ้มกันน้อย เชื้อวัณโรคอาจแพร่กระจายไปตามกระแสเลือด ทำให้เกิดเยื้อหุ้มสมองอักเสบ หรือลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น กระดูก ไต หรือลำไส้


-ผู้สูงอายุ




ขอบคุณที่มา โรงพยาบาลพญาไท / โรงพยาบาล Medpark / โรงพยาบาลจุฬาฯ / โรงพยาบาลวิชัยเวช 

ภาพจาก รอยเตอร์ / AFP

ข่าวแนะนำ