ผลไม้แก้"ท้องผูก"อร่อยหากินง่าย เปิดความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับดีท็อกซ์ลำไส้!
เปิดผลไม้แก้ "ท้องผูก" อร่อย หาทานง่าย ประโยชน์จัดเต็ม พร้อมเปิด 5 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการดีท็อกซ์ลำไส้
เปิดผลไม้แก้ "ท้องผูก" อร่อย หาทานง่าย ประโยชน์จัดเต็ม พร้อมเปิด 5 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการดีท็อกซ์ลำไส้
ท้องผูก คือ ภาวะการถ่ายอุจจาระยาก หรือห่างผิดปกติ ร่วมกับ อุจจาระที่มีลักษณะแข็งหรือแห้งผิดปกติด้วยเช่นกัน ส่วนท้องผูกเรื้อรัง หมายถึง ภาวะท้องผูกที่เป็นต่อเนื่องกันนานเกิน 3 เดือน
ภาวะท้องผูกส่วนใหญ่ที่เกิดจากกลุ่มปฐมภูมิ เช่น ลำไส้แปรปรวน ลำไส้เฉื่อย หรือการเบ่งถ่ายผิดวิธีนั้นเป็นกลุ่มที่ปลอดภัย แต่หากเป็นกลุ่มที่มีสาเหตุจากโรค หากไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ทันเวลา อาจส่งผลให้เกิดอันตรายได้ เช่น มะเร็งลำไส้ เป็นต้น ภาวะท้องผูกเรื้อรังที่ไม่มีโรคอันตรายแอบแฝง อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของร่างกายและจิตใจได้ ดังนั้นหากเป็นไปได้ ควรป้องกันและรักษาภาวะท้องผูกให้หายเป็นปกติ
สำหรับการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดอาการท้องผูกในกรณีที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ร่วมกับมีอาการน้อย ไม่มีอาการสัญญาณเตือน อาจปรับเปลี่ยนสุขนิสัย ได้แก่
1.การดื่มน้ำให้มากพอ อย่างน้อย 2-3 ลิตรต่อวัน ภาวะขาดน้ำจะทำให้อุจจาระแข็งและแห้ง ยิ่งทำให้การถ่ายอุจจาระยาก
2.การรับประทานอาหารเส้นใยสูง คือ ผัก ผลไม้ ทั้งนี้เส้นใยจากอาหาร นอกจากจะเป็นโครงให้อุจจาระมีความฟู ถ่ายง่ายแล้ว เส้นใยจากอาหารยังเป็นอาหารให้จุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้ ลดการรับประทานเนื้อสัตว์และแป้ง เพราะจะส่งผลให้ท้องผูกเป็นมากขึ้น
3.ออกกำลังกายเป็นประจำ การออกกำลังกายด้วยการเดินหรือวิ่งเหยาะๆ ช่วยสนับสนุนให้มีการบีบตัวของลำไส้
4.การทำกิจกรรมเพื่อคลายเครียด
หากมีภาวะท้องผูกในกรณีต่อไปนี้ ได้แก่
1.มีถ่ายอุจจาระปนเลือด
2.ผอมลงมาก
3.คลำได้ก้อนที่ท้อง
4.ปวดท้องรุนแรง
5.อ่อนเพลีย
6.ท้องอืดรุนแรง
7.ปัญหาเริ่มต้นหลังวัย 50
8.อาการเป็นมากขึ้นหลังจากการรักษาแบบปรับเปลี่ยนสุขนิสัยแล้ว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป
10 ผลไม้แก้ "ท้องผูก"
กากอาหาร หรือเส้นใยที่อยู่ในผัก ผลไม้ จะไปช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ทำให้การขับถ่ายดีขึ้น นักโภชนาการแนะนำว่าอย่างน้อยควรทานผัก ผลไม้ ให้ได้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม จะเป็นส้ม กล้วยน้ำว้า หรือคะน้า บร็อคโคลี่ กว้างตุ้ง ผักโขม หรือแม้แต่หัวไชเท้าก็เลือกเอาตามใจชอบได้เลยดีทั้งนั้น
-กล้วย ช่วยแก้ปัญหาท้องผูกได้เป็นอย่างดีด้วยปริมาณเส้นใย และกากอาหารที่มีอยู่ในกล้วย จะช่วยให้ระบบการขับถ่ายของร่างกายเป็นปกติ มีไฟโตเคมิคัลที่ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความแก่ ป้องกันมะเร็ง
-มะละกอสุก อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระอย่างเบต้าแคโรทีน วิตามินเอ วิตามินซี และสารอาหารต่างๆอีกมากมาย ช่วยกำจัดอุปสรรคที่ขัดขวางการขับถ่ายของลำไส้ แก้ปัญหาท้องผูก
-มะม่วงสุก ช่วยให้ระบบการย่อยอาหารทำงานได้ดี เพราะในมะม่วงสุกมีน้ำและกากใยมาก ช่วยแก้ปัญหาทางเดินอาหาร เช่น ท้องผูกและท้องเสีย
-แอปเปิ้ล เป็นผลไม้ที่มีกากใยอาหารสูง ช่วยปรับสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ได้ช่วยในการกระตุ้นระบบขับถ่าย ป้องกันอาการท้องผูก
-ลูกพรุน อุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหาร และสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด ช่วยเรื่องท้องผูก ชะลอความแก่ได้เป็นอย่างดี
-สับปะรด อุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามินต่างๆ ช่วยแก้อาการท้องผูก ขับถ่ายไม่สะดวก ย่อยอาหารจำพวกโปรตีน และ ช่วยในการขับปัสสาวะ ปัสสาวะไม่ออก
-มะขาม มีกรดอินทรีย์ที่มีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ สามารถทำเป็นน้ำมะขามดื่มแก้ท้องผูกได้
-ส้ม มีกากใยสูง ช่วยระบบขับถ่าย ช่วยให้ผิวมีสุขภาพดี และเพิ่มความแข็งแรงให้ผิว กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย
-แก้วมังกร ช่วยบำรุงการทำงานของระบบขับถ่าย จึงทำให้การขับถ่ายสะดวกและแก้อาการท้องผูก
-กีวี่ เป็นผลไม้ที่ให้พลังงานต่ำ มีวิตามินซี วิตามินอี วิตามินเค และมีสารต้านอนุมูลอิสระมากมาย แถมไฟเบอร์เยอะ ช่วยเรื่องระบบขับถ่ายอีกด้วย
-เสาวรส มีกากใยสูงจึงช่วยให้ขับถ่ายคล่อง มีแร่ธาตุ วิตามิน และไฟเบอร์
เติม “โยเกิร์ต” ไปในเซตอาหารเช้า
ในระบบทางเดินอาหาร ของเรานั้นมีจุลินทรีย์อยู่หลายร้อยชนิด ทั้งดี และไม่ดี สิ่งที่มีอยู่ในโยเกิร์ตที่เรียกว่า “โพรไบโอติก” นั้นเป็นจุลินทรีย์ดี ทำหน้าที่ช่วยปรับสมดุลของสภาพแวดล้อมในระบบลำไส้ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขับถ่ายให้ดีมากขึ้น นอกจากนี้โพรไบโอติกยังช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง และเป็นจุลินทรีย์ที่สามารถทนต่อกรดในกระเพาะและลำไส้ได้ดีกว่าจุลินทรีย์ชนิดอื่นๆ อีกด้วย
ไซเลี่ยมฮัสค์ (Psyllium Husk) ช่วยบรรเทาอาการท้องผูก
ไซเลี่ยมฮัสค์ เป็นเส้นใยอาหารที่ละลายน้ำได้ ทำมาจากเปลือกหุ้มเมล็ดไซเลี่ยมฮัสค์ หรือต้นเทียนเกล็ดหอย (Plantago Ovata) มีลักษณะเป็นเกล็ดเล็ก ๆ สีขาวขุ่น ไม่มีรสชาติและแทบไม่มีกลิ่น มักใช้เป็นยาระบาย โดยนำไปละลายกับน้ำเปล่าหรือเครื่องดื่มอื่น ๆ ไซเลี่ยมฮัสค์จะกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ช่วยในการขับถ่าย นอกจากนี้ ยังใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารทั่วไป เช่น ซีเรียล และใช้เป็นอาหารเสริมในรูปแบบแคปซูล ผงสำหรับชงดื่ม
อย่างไรก็ตาม ก่อนตัดสินใจใช้ยาระบายเพื่อแก้ไขปัญหาท้องผูก ควรดูแลตัวเองด้วยการดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่าย ออกกำลังกายและขยับร่างกายเป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี ผัก ผลไม้
ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการดีท็อกซ์ลำไส้
1. ความเชื่อ- ดีท็อกซ์ สามารถช่วยลดไขมันได้
ความจริง การทำ ดีท็อกลำไส้ มีหลายสูตรหลายวิธีที่เน้นด้วยการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย โดยเฉพาะการถ่ายอุจจาระ ซึ่งวิธีดังกล่าวอาจทำให้รู้สึกตัวเบา แต่ในความจริงแล้ว การขับถ่ายมีเพียงของเสียและน้ำเท่านั้น แต่ร่างกายไม่ได้เผาผลาญไขมันส่วนเกินออกไปเลย บางกรณีผู้ขับถ่ายอาจเสียเกลือแร่และวิตามินจากการขับถ่ายจำนวนมากจนเกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้
2. ความเชื่อ-อาหารเสริมหรือเครื่องดื่มดีท็อกซ์ช่วยขับสารพิษออกจากร่างกายได้
ความจริง อาหารเสริมหรือเครื่องดื่มดีท็อกซ์ที่ขายอยู่ตามท้องตลาดหรือในโลกออนไลน์ ไม่สามารถขับพิษออกจากร่างกาย ได้และทางที่ดีไม่ควรซื้อหามารับประทานเอง โดยไม่ได้ปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์เด็ดขาด
3. ความเชื่อ-น้ำหมักผัก ผลไม้ ช่วยขับของเสียออกจากร่างกายได้
ความจริง น้ำหมักที่ได้จากการหมักผักและผลไม้ไม่สามารถ ล้างสารพิษ ออกจากร่างกายได้ แต่อาจทำให้เสี่ยงต่อการเพิ่มสารพิษตกค้าง หากล้างผักและผลไม้ไม่สะอาด รวมถึงภาชนะและวิธีการหมักที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อโรคและแบคทีเรียที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ง่าย ส่งผลให้ท้องเสีย หรือมีผลต่อระบบทางเดินอาหารในระยะยาว
4. ความเชื่อ- การกินยาระบาย คือการทำ ดีท็อกลำไส้ วิธีหนึ่ง
ความจริง ยาระบาย มีฤทธิ์ช่วยดึงน้ำออกจากผนังลำไส้ ส่งผลให้เนื้ออุจจาระนิ่มและขับถ่ายออกได้ง่าย โดยที่ยาระบายไม่สามารถชะ ล้างสารพิษ ที่สะสมตามผนังลำไส้ หรือในร่างกายออกไปได้
นอกจากนี้การใช้ยาระบายบ่อยๆ ยังอาจส่งผลต่อสุขภาพได้อีกด้วยฉะนั้น ในกรณีที่มีอาการท้องผูกเรื้อรังควรปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาที่ถูกต้อง
5. ความเชื่อ-ใครก็สามารถสวนล้างลำไส้ หรือทำ ดีท็อกลำไส้ เองที่บ้านได้
ความจริง ไม่ควรซื้ออุปกรณ์สวน ล้างลำไส้ มาทำเองที่บ้าน เพราะอาจเสี่ยงต่อเชื้อโรคและสิ่งปนเปื้อน รวมถึงอาจเกิดความผิดพลาดระหว่างการสวนลำไส้ และเป็นอันตรายได้
ขอบคุณที่มา กรมการแพทย์ / โรงพยาบาลสมิติเวช / โรงพยาบาลเปาโล / hellokhunmor.com
ภาพจาก AFP/TNN Online