TNN "ท้องผูกเรื้อรัง" มีอาการอย่างไร? เตือนอาจเป็นสัญญาณมะเร็งลำไส้ใหญ่

TNN

Health

"ท้องผูกเรื้อรัง" มีอาการอย่างไร? เตือนอาจเป็นสัญญาณมะเร็งลำไส้ใหญ่

ท้องผูกเรื้อรัง มีอาการอย่างไร? เตือนอาจเป็นสัญญาณมะเร็งลำไส้ใหญ่

"ท้องผูกเรื้อรัง ลำไส้พัง ไม่รู้ตัว " เกิดจากสาเหตุอะไร มีอาการอย่างไร เตือนอย่านิ่งนอนใจอาจเป็นสัญญาณมะเร็งลำไส้ใหญ่

"ท้องผูกเรื้อรัง ลำไส้พัง ไม่รู้ตัว " เกิดจากสาเหตุอะไร มีอาการอย่างไร เตือนอย่านิ่งนอนใจอาจเป็นสัญญาณมะเร็งลำไส้ใหญ่


ภาวะท้องผูก มักเกิดขึ้นเมื่อ ลำไส้บีบตัวหรือเคลื่อนตัวช้าในระหว่างที่ย่อยอาหาร ทำให้ร่างกายไม่สามารถกำจัดของเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อมีของเสียตกค้างในลำไส้ใหญ่เป็นเวลานานจะทำให้เกิดอุจจาระที่แห้ง แข็ง และมีขนาดใหญ่ขึ้นจนขับถ่ายลำบาก 


ภาวะท้องผูกเรื้อรัง เกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุหลักๆ ได้แก่


1.พฤติกรรมในชีวิตประจำวันอาจทำให้เกิดท้องผูกเรื้อรัง เช่น การรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย ดื่มน้ำน้อย รับประทานอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนม รวมถึงอาหารแปรรูปที่มีไขมันและน้ำตาลปริมาณมาก ออกกำลังกายน้อยหรือไม่ออกเลย กลั้นอุจจาระบ่อยๆ


2.ยาบางประเภทอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเป็นอาการท้องผูกได้ เช่น ยารักษาอาการซึมเศร้า ยารักษาโรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ ยาลดความดันโลหิต ยาลดกรดที่มีส่วนผสมของแคลเซียม หรืออะลูมิเนียม ยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของมอร์ฟีน เป็นต้น


3.ภาวะเจ็บป่วยบางอย่างจะส่งผลให้มีอุจจาระตกค้างในลำไส้จนทำให้เกิดอาการท้องผูกเรื้อรัง เช่น เกิดแผลปริที่ขอบทวารหนัก ลำไส้อุดตัน มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น


4.ภาวะที่ทำให้ฮอร์โมนไม่สมดุลอาจทำให้เกิดปัญหาท้องผูกเรื้อรังได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคลำไส้แปรปรวน ต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ หรือการตั้งครรภ์ เป็นต้น


5.การทำงานของลำไส้ใหญ่ผิดปกติ หรือภาวะลำไส้เฉื่อย เป็นการที่ลำไส้ใหญ่เคลื่อนไหวน้อยลงทำให้อุจจาระเคลื่อนลงมาช้ากว่าปกติ



อาการแบบไหนเข้าสู่ภาวะท้องผูกเรื้อรัง

ภาวะท้องผูกเรื้อรังหมายถึงการมีอาการใดอาการหนึ่ง ดังนี้

-การมีอุจจาระแข็ง


-ความถี่ในการขับถ่ายอุจจาระลดลงกว่าปกติ หรือน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์


-ใช้เวลานานในการเบ่งถ่าย


-มีความเจ็บปวดเวลาเบ่งถ่ายหรืออุจจาระมีเลือดปนออกมา


-หลังถ่ายอุจจาระเรียบร้อยแล้วแต่ยังมีความรู้สึกถ่ายไม่หมดหรือถ่ายอุจจาระไม่สุด


ท้องผูกเรื้อรังอาจเป็นสัญญาณมะเร็งลำไส้ใหญ่

ปัญหาท้องผูกเรื้อรังอาจเป็นผลมาจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่เป็นอันตราย อย่างโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หากเกิดอาการอาการใดอาการหนึ่ง หรือตั้งแต่ 2 อาการขึ้นไป ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป ได้แก่

-ท้องผูกอย่างต่อเนื่องนานกว่า 2 สัปดาห์


-ท้องเสียเล็กน้อยนาน 1 สัปดาห์


-ท้องเสียอย่างรุนแรงนานเกิน 2 วัน


-ถ่ายเหลวและถ่ายเป็นเลือด


-อุจจาระมีสีดำ


-ปวดถ่ายอุจจาระในแบบที่ต้องถ่ายทันทีอย่างหาสาเหตุไม่ได้


การวินิจฉัยอาการท้องผูกเรื้องรัง

เบื้องต้นแพทย์จะทำการซักประวัติ อาการร่วมต่างๆ และการตรวจร่างกายทั่วไป รวมถึงการตรวจทางทวารหนัก บางกรณีอาจมีการตรวจพิเศษอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น

-ส่องกล้องตรวจภายในลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เพื่อแยกภาวะอุดกั้นหรือตีบแคบของลำไส้


-การตรวจการเคลื่อนไหวของลำไส้


-การตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อในการขับถ่ายและการรับรู้ความรู้สึกของลำไส้ตรง


-การตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อที่ใช้การขับถ่าย ได้แก่ กล้ามเนื้อช่องท้อง กล้ามเนื้อเชิงกราน และกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก


การปรับพฤติกรรม

-รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง โดยเฉพาะผักและผลไม้ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถย่อยใยอาหารได้ จึงยังอยู่ในลำไส้และอุ้มน้ำเอาไว้ ส่งผลให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดียิ่งขึ้น


-ดื่มน้ำไม่น้อยกว่าวันละ 2 ลิตร เพื่อให้อุจจาระไม่แข็งจนเกินไป ร่างกายจึงขับถ่ายได้ง่ายขึ้น


-ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหารและกล้ามเนื้อหลัง ซึ่งจะช่วยให้ลำไส้เคลื่อนไหวดีขึ้น


-ขับถ่ายให้เป็นเวลาในแต่ละวัน เพราะหากทำเป็นประจำจะทำให้ปฏิกิริยาของร่างกายที่เกี่ยวข้องกับการขับถ่ายมีประสิทธิภาพลดลงจนเกิดอาการท้องผูกได้


-อย่ากลั้นอุจจาระ หรือรีบร้อนในการขับถ่าย เพราะอาจทำให้เกิดโรคริดสีดวงทวารได้


การรักษาด้วยยา

เมื่อปรับพฤติกรรมแล้วไม่ดีขึ้น สามารถใช้ยาได้ ยาที่ออกฤทธิ์ช่วยระบาย หากใช้ยาแล้วไม่ดีขึ้นหรือต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่อง ควรปรึกษาแพทย์

นอกจากนี้ ท่านั่งที่ดี ก็ช่วยให้การขับถ่ายทำได้ง่ายยิ่งขึ้นเช่นกัน ซึ่งท่าที่เหมาะที่สุดคือท่านั่งยอง ๆ เนื่องจากเป็นท่าที่ลำไส้ทำมุมตรงกับการขับถ่าย แต่หากใช้ชักโครกแบบนั่ง ก็สามารถปรับเปลี่ยนด้วยการงอเข่าเข้าหาลำตัว หรือหาเก้าอี้เล็ก ๆ มาวางไว้เพื่อช่วยยกขาให้สูงขึ้นก็ได้เช่นเดียวกัน

สุดท้ายการถ่ายอุจจาระขึ้นอยู่กับสุขภาพและลักษณะร่างกายของแต่ละคน หากสามารถขับถ่ายได้อย่างปกติ ไม่มีอาการเจ็บปวด แม้จะไม่ได้ขับถ่ายทุกวัน ก็ยังไม่ถือว่ามีอาการท้องผูก แต่หากมีการขับถ่ายที่ผิดปกติไปจากเดิม เช่น ถ่ายเหลว ลักษณะของอุจจาระเปลี่ยนไปจากเดิม มีก้อนเล็กลง หรือมีเลือดปน ก็ควรรีบมาปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัดอีกครั้งหนึ่ง












ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลนครธน /  RAMA CHANNEL 

ภาพจาก TNN Online / AFP


ข่าวแนะนำ