“ฝีดาษลิง”พุ่งไม่หยุด ผู้ป่วยสะสม 283 คน อายุน้อยสุด 16 ปึ
สถานการณ์ล่าสุด “ฝีดาษลิง” พุ่งไม่หยุดพบผู้ป่วยสะสมแล้ว 283 คน ครึ่งหนึ่งติด HIV ร่วมด้วย-อายุน้อยสุด 16 ปี
วันนี้ ( 2 ก.ย. 66 )สถานการณ์ผู้ป่วยฝีดาษลิง หรือ MPOX ในประเทศไทย ยังพบผู้ป่วยเพิ่มทุกสัปดาห์ล่าสุด มีผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 283 คน ผู้ป่วยอายุร้อยสุด 16 ปี แนวโน้มการระบาดยังคงเพิ่มสูงต่อเนื่อง ส่วนภาพรวมผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นชาย มีพฤติกรรมเสี่ยงเปลี่ยนคู่นอนบ่อย นัดเจอกันผ่าน แอปพลิเคชัน โดยระยะหลังพบผู้ป่วยฝีดาษวานรติดเชื้อ HIV ร่วมด้วย
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยสถานการณ์โรคฝีดาษลิงในประเทศไทย ข้อมูลล่าสุดถึงวันที่ 27 สิงหาคม มีผู้ป่วยสะสม 283 คน โดยในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นมาก แนวโน้มสถานการณ์ของโรคยังสูงต่อเนื่อง แต่สถานการณ์การระบาด อาจจะไม่ เร็วเท่าโควิด-19 เนื่องจากไม่ได้แพร่ผ่านระบบทางเดินหายใจ แต่เป็นการแพร่ระบาดจากการสัมผัสแนบชิดใกล้ชิด และการมีเพศสัมพันธ์ โดยสัปดาห์เดียวมีผู้ป่วยสูงสุดกว่า 30-40 คน ซึ่งสถานการณ์ของโรคตอนนี้ของไทย จะใกล้เคียงกับจีนและเกาหลีใต้
สำหรับช่วงอายุผู้ป่วยฝีดาษลิงที่พบเพิ่มขึ้นตอนนี้ จะอยู่ในช่วงอายุ 20 ต้นๆ โดยพบผู้ป่วยอายุน้อยสุด 16 ปี ขณะเดียวกัน จำนวนผู้ป่วยเกือบทั้งหมด เป็น ชาย และผู้ป่วยจำนวนครึ่งนึงติด HIV ร่วมด้วย ส่วนเพศหญิงในปีนี้พบ 1 ราย ติดมาจาก แฟนชาวต่างชาติ อยู่ระหว่างติดตาม และสอบสวนโรค
โดยสิ่งที่น่ากังวล ตอนนี้คือการระบาดของโรคฝีดาษลิง อาจจะคล้ายกับการระบาด HIV ที่ในช่วงแรก อยู่ในกลุ่มเฉพาะชายรักชาย แล้วกระจายไปสู่กลุ่มอื่นๆซึ่งตอนนี้เริ่มเห็นแนวโน้มแล้ว เนื่องจากพบผู้หญิงติดฝีดาษลิงแล้ว
ตามหลักการติดเชื้อร่วม ฝีดาษลิง และ HIV อาการจะไม่แตกต่างกันมาก กับกลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อฝีดาษลิงอย่างเดียว เนื่องมาจากพฤติกรรมการติดเชื้อ มาจาก การสัมผัสใกล้ชิด คือ มีไข้ มีตุ่มหนอง มีผื่น แต่หากเป็นกลุ่มHIV ที่คุมอาการได้ดี กินยาต่อเนื่อง ภูมิคุ้มกันไม่ตก อาการก็จะเหมือนผู้ป่วยทั่วไป หายได้เอง แต่กลุ่มที่จะต่างออกไป คือ กลุ่มที่เป็น HIV แล้ว ไม่ดูแลรักษา ไม่กินยาต้านไวรัส เรียกว่า ติดเชื้อฉวยโอกาส เมื่อติดเชื้อฝีดาษลิงร่วมด้วย ทำให้อาการรุนแรงและเสียชีวิตได้
สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่หากติดเชื้อฝีดาษลิงแล้วอาการรุนแรงคือ กลุ่มที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น กลุ่มผู้ป่วย HIV กลุ่มผู้ป่วยมะเร็ง หรือกลุ่มผู้ป่วยเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ที่ต้องกินยากดภูมิคุ้มกัน
ส่วนความคืบหน้า กรณีที่ องค์การอนามัยโลก สนับสนุนยา TPOXX หรือยารักษาผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง ล่าสุด ประเทศไทยได้รับยาดังกล่าวมา 100 คน ขณะนี้ดำเนินการให้ยาผู้ป่วยบางส่วนแล้ว อยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลถึงประสิทธืฝิภาพและผลข้างเคียงของยา ซึ่งยาขณะนี้เก็บไว้ 2 แห่ง คือที่กองเอดส์และกองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กับ โรงพยาบาลในพื้นที่อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรีเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวพบจำนวนผู้ป่วย ค่อนข้างมาก
โดยเกณฑ์ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงที่จะได้รับยาTPOXX คือ ผู้ป่วย ที่มีโรคอยู่เดิมแล้วอาการหนัก เช่น รายนั้นมีการติดเชื้อ HIV ที่ภูมิคุ้มกันต่ำ มีภาวะแทรกซ้อนจากโรคฉวยโอกาส ผู้ที่ปอดอักเสบร่วมด้วย กลุ่มผู้ป่วย ที่เป็นโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งเม็ดเลือด มะเร็งปอด ซึ่งยาชนิดนี้เป็นชนิดรับประทาน ผู้ป่วย 1 คนจะกินเพียง 2 ครั้ง
ส่วนวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิงโดยเฉพาะ ขณะนี้ทางกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข ยังคงมีความพยายามในการเจรจากับบริษัทผู้ผลิตอยู่ ซึ่งเป็นวัคซีนรุ่นใหม่ที่ผลข้างเคียงน้อย
สำหรับ โรคฝีดาษลิง ปัจจุบันแบ่งเป็น 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก มีความรุนแรงน้อย หายได้เองใน 2-3 สัปดาห์ และ สายพันธุ์แอฟริกากลาง มีความรุนแรงมาก ทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งปัจจุบันผู้ป่าวในไทยยังเป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก
ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุว่า การสอบสวนโรคขณะนี้ยังทำได้ยาก เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่ปกปิดข้อมูล ทำให้ยากในการควบคุมการระบาด เพราะไม่สามารถหาแหล่งที่มาของโรคได้
ข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค
ภาพจาก : AFP