อาบน้ำร้อนทุกวันดีไหม? อุณหภูมิเท่าไรส่งผลดีต่อสุขภาพ
ไขข้อสงสัย อาบน้ำร้อนทุกวันดีไหม? อุณหภูมิเท่าไรถึงเหมาะสม ส่งผลดีต่อสุขภาพ และ ใครควรระมัดระวัง
การอาบน้ำ ไม่ใช่แค่เรื่องของการชำระร่างกายเพื่อรักษา ความสะอาดแต่มีผลกระทบต่อสุขภาพด้วย อุณหภูมิของน้ำที่อาบก็มีผลต่อสุขภาพด้วยเช่นกัน โดยส่วนใหญ่แล้วคนมักนิยมอาบน้ำร้อน หรือ น้ำอุ่น เพราะเชื่อกันว่าทำให้เลือดลมไหลเวียนดี และ เป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เรามาดูกันว่า อาบน้ำร้อน หรือ น้ำอุ่นทุกวัน ดีจริงหรือไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร ใช้อุณหภูมิเท่าไรจึงเหมาะสม
อาบน้ำร้อนอุณหภูมิเท่าไรเหมาะสมกับร่างกาย
น้ำร้อนหรือ น้ำ อุ่น อุณหภูมิที่เหมาะสมสําหรับการอาบน้ำอุ่นอยู่ที่ 27-37 องศาเซลเซียส จะช่วยให้ผิวขับของเสียที่คั่งค้างออกมาได้มากขึ้น ทําให้รู้สึกสบายตัว ช่วยลดอาการมือเท้าเย็น บวม เส้นเลือดขอด ช่วยกระตุ้นการไหลของเลือด และช่วยลดความเครียดได้ การแช่น้ำอุ่นเหมาะสําหรับคนที่นอนไม่ค่อยหลับ เพราะน้ำอุ่นจะไปเพิ่มอุณหภูมิในร่างกายทําให้รู้สึก สบายตัว หลับได้ง่ายและนานขึ้น
น้ำอุ่นอุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียสจะเป็นความร้อนระดับเดียวกับอุณหภูมิในร่างกาย โดยให้สังเกตว่าเมื่ออาบแล้วจะสบายตัว แม้จะอาบน้ำแช่นานๆ ก็จะไม่รู้สึกแสบผิว แต่จะรู้สึกสบายตัว
ข้อดีของการอาบน้ำร้อน หรือ น้ำอุ่น
- ช่วยลดความเครียดสะสมระหว่างวันได้ดี
- ผ่อนคลายกล้ามเนื้อภายหลังจากที่อาบน้ำ
- การอาบน้ำอุ่นสำหรับผู้หญิงในช่วงก่อนหรือมีประจำเดือน ช่วยให้ระบบโลหิตไหลเวียนได้ดียิ่งขึ้น ลดอาการเกร็งช่องท้อง และลดอาการปวดท้องได้
- ลดอาการบวมของร่างกายในส่วนต่าง ๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน
- ทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น การอาบน้ำอุ่นช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ทำให้เกิดความผ่อนคลาย นอกจากนั้น น้ำอุ่นช่วยปรับอุณหภูมิในร่างกาย ทำให้รู้สึกสบายตัว จึงช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น
- มีผลวิจัยของสมาคมยุโรปเพื่อการศึกษาโรคเบาหวาน พบว่า ผู้ที่อาบน้ำร้อนบ่อยๆ มีดัชนีมวลกาย หรือ BMI (Body mass index) ความดันโลหิต และระดับน้ำตาลสะสมในเลือดที่ต่ำกว่า
ข้อควรระวังในการอาบน้ำอุ่น
- มีผลทำให้ผิวแห้ง หลังจากอาบน้ำอุ่น จะต้องใช้เวชภัณฑ์ช่วยเรื่องของการบำรุงผิว เพื่อไม่ให้ผิวแห้ง
- ความไวต่อการรับสัมผัส คนบางกลุ่มที่ร่างกายมีความไว ต่อการรับสัมผัสความร้อน ทำให้บางครั้งการอาบน้ำอุ่นในคนบางคนจึงไม่รู้สึกถึงความร้อนของน้ำ ทำให้เกิดน้ำร้อนลวกผิวได้ เช่น คนที่มีโรคเกี่ยวกับระบบประสาทส่วนปลายทำให้ความรู้สึกลดลง ดังนั้นเวลาอาบน้ำอุ่นต้องดูว่าน้ำอุ่นพอควร ไม่ร้อนจนกระทั่งไปลวกผิว อาจเกิดผิวหนังพุพองได้
- ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัว โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาทส่วนปลาย อาจจะมีปัญหาอาการชาหรือ ไม่รู้สึกกรณีที่ถูกความร้อน ซึ่งกลุ่มนี้จะมีปัญหากรณีไปสัมผัสสิ่งร้อนๆ ร่างกายจะไม่รู้สึกว่าร้อน ต้องระวังอาจทำให้เกิดน้ำร้อนลวกเกิดแผลพุพองและนำมาสู่ปัญหาอื่นๆ เช่นการติดเชื้อเพิ่มเติม
ข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ , กรมอนามัย , โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
ภาพจาก : AFP