TNN เปิด 5 วิธีเช็ก "หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท" ด้วยตัวเอง

TNN

Health

เปิด 5 วิธีเช็ก "หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท" ด้วยตัวเอง

เปิด 5 วิธีเช็ก หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ด้วยตัวเอง

เปิด 5 วิธีง่ายๆ เช็ก "หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท" ด้วยตนเอง หากป่วยแล้วมีแนวทางรักษาอย่างไร?

เปิด 5 วิธีง่ายๆ เช็ก "หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท" ด้วยตนเอง หากป่วยแล้วมีแนวทางรักษาอย่างไร?


หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เป็นโรคของความเสื่อมอย่างหนึ่ง ปกติแล้วหมอนรองกระดูกสันหลังมีลักษณะคล้าย “โช๊คอัพ” อยู่ระหว่าง กระดูกสันหลัง มีคุณสมบัติในการยืดหยุ่น รองรับแรงกระแทกที่เกิดจากการใช้งานกระดูกสันหลัง ในเวลาที่เคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเดินหรือกระโดด ตอนเราเด็ก ๆ หนุ่ม ๆ สาว ๆ ภายในหมอนรองกระดูกสันหลังจะมีองค์ประกอบของน้ำเป็นส่วนสำคัญ พอนานวันเข้า ของทุกอย่างย่อมเสื่อม เปอร์เซ็นต์ของน้ำในหมอนรองกระดูกสันหลังก็จะลดลง เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ 


หมอนรองกระดูกสันหลังของวัยหนุ่มสาวจะเหมือนกับ “ยางลบดินสอ” ที่นิ่ม ในขณะที่หมอนรองกระดูกสันหลังของคนที่มีอายุมากขึ้นจะเหมือนกับ “ยางลบหมึก” ที่ค่อนข้างแข็ง ทำให้ความยืดหยุ่นน้อยลงและเตี้ยลงลักษณะคล้ายกับ “ยางแบน” เมื่อหมอนรองกระดูก ไปกดทับเส้นประสาทส่วนใด ก็จะมีอาการปวดแสดงออกมาตามแนวของเส้นประสาทนั้น


5 วิธีเช็ก หมอนรองกระดูก ทับเส้นประสาท


1.มีอาการปวดสะโพกร้าวลงขา 


หากคุณมีอาการปวดสะโพกหรือปวดเอวก็ตามแต่ แล้วเกิดร่วมกับอาการร้าวลงขา ไม่ว่าจะข้างใดข้างหนึ่งหรือสองข้างก็ตาม แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดแค่ข้างใดข้างหนึ่ง โดยลักษณะการร้าวลงขา ส่วนใหญ่จะร้าวไปที่ก้น หรือด้านหลังต้นขา ไปที่แถบขางขาหรือหลังขา ซึ่งจะเกิดร่วมกับอาการชาหรือไม่ก็ได้ครับ และส่วนใหญ่อาการจะเป็นหนักตอนที่นั่งนานหรือยืนนานๆ เป็นต้น


2. อาการอ่อนแรงที่ขาร่วมด้วย 


โดยหมอให้คุณเช็คง่ายๆ คือให้ลองกระดกข้อเท้าขึ้นหรือกระดกนิ้วโป้งเท้าขึ้นค้างไว้ หรือว่าถ้าคุณมีเพื่อน อาจจะลองให้เพื่อนใช้มือต้านแรงตอนกระดกข้อเท้าหรือนิ้วโป้งเท้าไว้ เทียบกับอีกข้างที่ปกติก็ได้ ถ้ารู้สึกว่าอ่อนแรงกว่าอีกด้าน นั้นหมายถึงคุณควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วนเลยครับ


3.ลองให้เพื่อนยกขาของคุณในท่านอนหงาย


โดยให้เพื่อนของคุณใช้มือรองข้อเท้าแล้วยกขึ้นมาจนเข่าเหยียดตรง โดยให้คุณทิ้งน้ำหนักขาไปที่มือของเพื่อนทั้งหมด ห้ามเกร็งขาหรือออกแรง ถ้าเกิดคุณแสดงอาการปวดสะโพกร้าวลงขาแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ที่คุณจะเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้ครับ


4.ให้สังเกตเวลา ไอ จาม เบ่ง ว่ามีอาการปวดหลังหรือสะโพกหรือไม่ 


นั่นอาจแสดงถึงอาการของหมอนรองกระดูกเคลื่อนหรือปลิ้นได้ครับ แต่หากยังไม่มีอาการลงขา ก็อาจจะไม่ได้เคลื่อนหรือปลิ้นไปทับเส้นประสาท หากมีอาการเช่นนี้ควรที่จะต้องปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อขอคำแนะนำในการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันไม่ไห้ตัวโรคเป็นไปมากกว่านี้ครับ


5. อาการชาที่ส่วนขา หากคุณไม่แน่ใจว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่ 


ให้คุณเช็กง่ายๆ โดยการใช้ไม้จิ้มฟัน มาจิ้มบริเวณที่รู้สึกชาเทียบกับขาอีกด้าน หากคุณรู้สึกต่างกัน นั่นอาจบ่งบอกถึงอาการชา ซึ่งอาการชาในหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท อาจไม่ได้มีอาการตลอด แต่อาจเกิดกับบางกิจกรรมหรือบางท่า เช่นการยืนหรือนั่งนานๆ ซึ่งถ้าหากเกิดอาการนี้ขึ้นก็ควรจะมาพบแพทย์เช่นกันเพราะนั่น บ่งบอกถึงการถูกกดทับของเส้นประสาทแล้ว


แนวทางการรักษาหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

การรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของผู้ป่วย หรือระดับการกดทับเส้นประสาท รวมถึงระยะเวลาของการเกิดอาการ โดยทั่วไปจะมีการรักษา 2 แบบหลักๆ คือ


1. การรักษาแบบไม่ผ่าตัด

-การรักษาแบบประคับประคอง การให้ยาลดอาการปวด ซึ่งช่วยลดอาการอักเสบของตัวเส้นประสาท และการทำกายภาพเพื่อให้หมอนรองกระดูกหดกลับเข้าไปได้ มักเป็นวิธีที่ใช้เริ่มต้นในการรักษา


-การฉีดยาเข้าโพรงกระดูกสันหลัง เป็นยาที่ผสมระหว่างคอร์ติโคสเตียรอยด์และยาชา ฉีดเข้าไปในโพรงกระดูกสันหลังหรือใกล้กับบริเวณที่มีอาการปวด จะช่วยลดความปวดจากการอักเสบ และช่วยในการวินิจฉัยตำแหน่งที่เป็นต้นเหตุของอาการปวดได้ การรักษาวิธีนี้ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาแบบประคับประคองแล้ว แต่อาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการปวดจากการที่เส้นประสาทโดนรบกวน


-การลดอาการปวดหลังโดยการใช้คลื่นความถี่วิทยุ หรือที่เรียกว่า Radiofrequency Ablation (RFA) การจี้เส้นประสาทด้วยคลื่นความถี่วิทยุ เป็นวิธีการลดการอักเสบของข้อต่อกระดูกสันหลังและบรรเทาอาการปวดบริเวณคอและหลังด้วยการใช้ความร้อนที่ได้จากคลื่นความถี่วิทยุจี้ตำแหน่งของข้อต่อกระดูก ข้อต่อเชิงกราน หรือเส้นประสาทที่เป็นสาเหตุของความปวด

2. การรักษาแบบผ่าตัด

จะทำเมื่อมีข้อบ่งชี้ดังต่อไปนี้ คือ รักษาด้วยวิธีประคับประคอง ไม่เป็นผลสำเร็จ หรือมีอาการปวดเรื้อรัง หรือมีอาการอ่อนแรงของขาอย่างชัดเจน หรือไม่สามารถควบคุมการขับถ่าย ปัสสาวะ หรืออุจจาระได้ โดยวิธีการผ่าตัดจะแบ่งการรักาาตามโรคหรือภาวะที่เป็น และความรุนแรงที่เกิดขั้น



ขอบคุณที่มา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ / โรงพยาบาลกรุงเทพ / โรงพยาบาลนครธน

ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ