กระดูกสันหลังเสื่อม ป้องกันอย่างไร? แนะท่าบริหารร่างกายสำหรับผู้ป่วย
กระดูกสันหลังเสื่อม ไม่ต้องรอแก่ ก็เป็นได้ แนะวิธีป้องกัน ท่าบริหารร่างกายสำหรับผู้ป่วย เป็นแล้วรักษาอย่างไร
กระดูกสันหลังเสื่อม ไม่ต้องรอแก่ ก็เป็นได้ แนะวิธีป้องกัน ท่าบริหารร่างกายสำหรับผู้ป่วย เป็นแล้วรักษาอย่างไร
กระดูกสันหลังเสื่อม (Spondylosis) คือ ภาวะการเสื่อมสภาพของกระดูก หมอนรองกระดูก ข้อต่อ เส้นเอ็นกระดูก และกล้ามเนื้อ ส่งผลให้กระดูกสันหลังเกิดการติดแข็ง ไม่ยืดหยุ่น การรับน้ำหนัก หรือการเคลื่อนไหวทำได้ไม่เหมือนปกติ ภาวะนี้มักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยในวัยผู้ใหญ่ อายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันพบว่า คนอายุน้อยเป็นกันมากขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นได้ตามส่วนต่างของร่างกาย เช่น กระดูกสันหลังส่วนคอ (Cervical Spine) และกระดูกสันหลังส่วนบั้นเอว (Low Back)
อาการกระดูกสันหลังเสื่อม
-มีอาการปวดหลัง หรือปวดจากกล้ามเนื้อรอบๆ กระดูกสันหลังที่ต้องทำงานแทนโครงสร้างที่ไม่แข็งแรง ลักษณะอาการปวดหลังมักจะมากขึ้นเวลามีการใช้งาน เช่น การก้มเงย การยกของ
-เคลื่อนไหวได้ลดลง เช่น ก้มเงยลำบาก หลังแข็งตึง จากความยืดหยุ่นที่ลดลงและข้อที่ขยับได้น้อยลง โดยเฉพาะเวลาลุกจากเตียงผู้ป่วยต้องใช้เวลามากกว่าปกติ
-มีอาการปวดร้าว ชา หรืออ่อนแรงตามแนวเส้นประสาท อาการที่เป็นจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งการกดทับเส้นประสาท ถ้าเป็นจากโรคกระดูกสันหลังส่วนคอมักจะมีอาการของระบบประสาทที่แขนและมือ แต่ถ้าเป็นจากโรคกระดูกสันหลังส่วนเอวจะทำให้มีอาการทางระบบประสาทที่ขา
การป้องกันกระดูกสันหลังเสื่อม
-หลีกเลี่ยงการใช้งานหนักในท่าที่ไม่เหมาะสมเป็นระยะเวลานานๆ เช่น การก้มเล่นมือถือนานๆ การขับรถทางไกลโดยไม่หยุดพัก หรือการก้มยกของหนัก รวมทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมช่วยได้อย่างมาก
-คนไข้ที่มีน้ำหนักตัวมากผิดปกติ ทำให้กระดูกสันหลังต้องรับน้ำหนักเกินความสามารถตลอดเวลา การลดน้ำหนักสามารถช่วยให้ภาระต่อกระดูกสันหลังลดลง
-การออกกำลังกายเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง จะช่วยทำให้การทำงานของกระดูกสันหลังสามารถชะลอความเสื่อมได้
การบริหารร่างกายสำหรับผู้ป่วยกระดูกสันหลังเสื่อม
ผู้ป่วยกระดูกสันหลังเสื่อมสามารถทำการออกกำลังกาย โดยใช้ท่าบริหารร่างกายตามคำแนะนำของแพทย์ และนักกายภาพบำบัดได้ เช่น
-ท่ายืด เหยียดกล้ามเนื้อคอ
โดยการโน้มศีรษะไปด้านหน้าเล็กน้อย และหมุนออกด้านขวาช้าๆ ค้างไว้ประมาณ 10 วินาที และทำเหมือนเดิมในด้านซ้าย ด้านละ 3 ครั้ง
-ท่ายืดกล้ามเนื้อสะโพก
นอนอยู่บนเตียงโดยให้ต้นขาอยู่นอกขอบเตียง และใช้มือดึงเข่าข้างหนึ่งขึ้นมาชิดหน้าอกข้างไว้ 30 วินาที ทำข้างละ 3 ครั้ง
-หมุนเอว
นอนโดยที่ยกเข่าตั้งฉากขึ้น และเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งอย่างช้าๆ 10-15 ครั้ง
-ท่าบริหารเชิงกราน
นอนให้หลังติดกับพื้น และเกร็งหน้าท้อง 10 วินาที 10 ครั้ง
การรักษาโรคกระดูกสันหลังเสื่อม
1. การรักษาแบบอนุรักษ์
-การให้ยาลดปวดหรือยาต้านอักเสบ
-การให้ยาลดปวดเส้นประสาท
-การทำกายภาพบำบัด เช่น การใช้ความร้อน การดึงหลังหรือคอ
-การฉีดยาสเตียรอยด์ เพื่อลดปวดตามข้อบ่งชี้
2. การรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งรูปแบบการผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับลักษณะของรอยโรคที่ผู้ป่วยเป็น เช่น การผ่าตัดเพื่อยกจุดกดทับ หรือการผ่าตัดเพื่อเสริมความมั่นคง โดยการใส่เหล็กดาม
ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลเพชรเวช / โรงพยาบาลศิริราชฯ / โรงพยาบาลนวเวช
ภาพจาก AFP